กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเวทีจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นักสู้แห่งประเทศไทย หรือ Battle Robot Warrior 2019 สำหรับคนมีไฟ มืออาชีพและคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และลับคมความคิดสร้างสรรค์ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมี 37 ทีมผู้เข้าแข่งขันนำผลงานหุ่นยนต์ประดิษฐ์หลากดีไซน์เข้าร่วมประลองความสามารถ ไหวพริบและฝีมือการบังคับหุ่นยนต์ ท่ามกลางเสียงลุ้นเชียร์ และเสียงโลหะกระทบกันดังสนั่น เรียกความสนใจจากผู้ชมรอบสนามอย่างคับคั่ง
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์นักสู้ชิงแชมป์ประเทศไทย ปีนี้คึกคักและตื่นเต้นท้าทาย โดยได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่และมืออาชีพอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ของการแข่งขันหุ่นยนต์นักสู้แห่งประเทศไทย Battle Robot Warrior 2019 เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยนำความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสร้างหุ่นยนต์ วิเคราะห์ วางแผนและการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและความรักสามัคคีของผู้เข้าร่วมแข่งขัน ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้กับประเทศไทย
การแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้เป็นรุ่น 10 กก. มีการกำหนดคุณสมบัติหุ่นยนต์ดังนี้ 1. หุ่นยนต์ต้องมีขนาดตัวไม่เกิน 350x350x350 มม. และสามารถยืดกลไกเพื่อการต่อสู้ หรือเปลี่ยนแปลงขนาดได้ไม่เกิน 500x500x500 มม. 2. แหล่งจ่ายไฟฟ้าไม่เกิน 24 โวลต์ 3.แหล่งจ่ายลมไม่เกิน 6 บาร์ 4. บังคับหุ่นยนต์แบบไร้สาย 5. ไม่จำกัดวัสดุในการสร้างหุ่นยนต์ และต้องติดตั้งอุปกรณ์อาวุธในการต่อสู้ที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลอย่างน้อย 1 อย่าง 6. หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวได้ทุกรูปแบบ โดยใช้รูปแบบสนามแข่งและกติกาตามกฎเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันระดับประเทศ ส่วนสนามแข่งขนาด 3 ตรม. มีค้อนยักษ์หนัก 2.5 กก. อยู่ 2 มุม ทุบลงมาให้หุ่นยนต์คอยหลบหลีกระหว่างการประจัญบาน
ผลการแข่งขัน ผู้ชนะ 4 ทีมได้แก่ รางวัลชนะเลิศ คือ ทีมมินิ ฟรีไตล์, รางวัลอันดับ 2 ทีมเอสพีอาร์ซี 2 และรางวัลอันดับ 3 มี 2 ทีม คือ ทีมเอสพีอาร์ซี 1 และทีมฟาร์เมอร์ โรโบติก
ธวัชชัย มินา (นุ) ตัวแทนทีมมินิ ฟรีไตล์ ผู้คว้าแชมป์ชนะเลิศ ซึ่งมีสมาชิกหนุ้มสาว 3 คน กล่าวว่า การลงมือทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด คิดแล้วต้องลงมือทำ และปรับปรุงทดสอบให้ได้ตามที่เราต้องการ ด้วยความรักและความชื่นชอบที่มีต่อหุ่นยนต์ ทำให้ผมและเพื่อน 3 คน ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานและวันหยุดเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม โดยเลือกออกแบบหุ่นยนต์ที่ใช้อาวุธด้วยการหนีบและยกคู่ต่อสู้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว และได้พัฒนาคุณภาพของเหล็กที่ใช้ทำหุ่นยนต์ ทั้งออกแบบเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบขับเคลื่อนภายในตัวหุ่นยนต์ ใช้งบประมาณ 12,000 บาท
ทีมของเรารู้สึกดีใจมากครับที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์นักสู้ครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนให้เกิดความคุ้นชินเชี่ยวชาญกับหุ่นยนต์ที่เราสร้าง จนสามารถสั่งการเคลื่อนไหวให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้บังคับได้ และต้องวิเคราะห์จุดอ่อนคู่ต่อสู้เพื่อจู่โจมเป้าหมายโดยได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ใช้ความคล่องตัว ทักษะ และความแม่นยำ หยุดคู่ต่อสู้ได้อย่างรวดเร็ว
วิบูรณ์ วังกราน (แพน) ตัวแทนทีมเอสพีอาร์ซี 2 รางวัลอันดับที่ 2 สมาชิกทีม 12 คน กล่าวว่า บางคนเข้าใจว่าหุ่นยนต์นักสู้คือการแข่งขันที่ใช้ความรุนแรงและไม่มีประโยชน์ แท้จริงแล้วเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่มาก เพราะหุ่นยนต์นักสู้มีทั้งความตื่นเต้น สนุกท้าทาย ทำให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และดึงดูดให้คนสนใจเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น จึงสร้างแรงบันดาลใจ ฝึกให้เราทำงานเป็นทีม รู้จักออกแบบ วิเคราะห์ วางแผน ระหว่างแข่งขันคู่ละ 2 รอบ เมื่อหุ่นยนต์เสียหายจากการปะทะต่อสู้ เราต้องซ่อมภายในเวลาอันจำกัด แก้ปัญหาฉุกเฉิน
สุทัศน์ ฉิมพันธ์ (ทัศน์) ตัวแทนทีมเอสพีอาร์ซี 1 รางวัลอันดับที่ 3 กล่าวว่า เป็นการแข่งขันที่ผมและทีมได้ประสบการณ์ตรงและยังได้เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของหุ่นยนต์คู่แข่ง รู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นทีมน้องๆ ระดับชั้นประถมศึกษาก็มาร่วมการแข่งขัน ซึ่งหุ่นยนต์ของเขามีความแข็งแกร่งและออกอาวุธได้ไม่แพ้มืออาชีพเลย เหนือสิ่งอื่นใดคือมิตรภาพ การรู้แพ้รู้ชนะ น้ำใจนักกีฬาที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในแง่ผู้ชมก็รู้สึกสนุกสนานไปกับการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบด้วยกลยุทธ์ต่างๆ หล่อหลอมให้สังคมไทยเป็นสังคมนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
นันทศักดิ์ พรรณขาม (เอ็ม) ตัวแทนทีมฟาร์เมอร์ โรโบติก ซึ่งคว้ารางวัลรองอันดับที่ 3 อีกทีมหนึ่ง กล่าวว่า ในทีมเรามี 5 คน ในยคดิจิทัลดิสรัพชั่น หุ่นยนต์นักสู้เป็นกีฬาที่น่าสนใจ ทั้งความตื่นเต้นเร้าใจ โดนใจคนรุ่นใหม่และคนรักหุ่นยนต์ครับ ได้เรียนรู้และใช้หลักการออกแบบหุ่นยนต์กับศาสตร์ต่างๆ ทั้งเครื่องกล ดิจิทัล ไฟฟ้า วัสดุ เป็นการแข่งขันที่เราได้ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้กล้าคิด กล้าทำ นำไปต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์ไทยได้อีกหลายด้านครับ
นับเป็นอีกหนึ่งการพัฒนายกระดับวงการหุ่นยนต์นักสู้ของไทยสู่เวทีโลกในอนาคต