ก.แรงงาน เจาะเขตกทม.แจงสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริม

ข่าวทั่วไป Thursday December 26, 2019 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดสัมมนาชี้แจงสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 เจาะพื้นที่กรุงเทพ รับผิดชอบกว่า 6,700 แห่ง นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ก.แรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานการสัมมนาชี้แจงสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ ต้องการชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ วิธีการยื่นขอรับรองหลักสูตรการฝึก เพื่อนำไปประเมินเงินสมทบ รวมถึงการนำค่าใช้จ่ายไปใช้ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งรับผิดชอบสถานประกอบกิจการ (สปก.) ที่อยู่ในข่ายบังคับตาม พ.ร.บ.ส่งเสริม จำนวน 6,783 แห่ง ได้แบ่งเขตรับผิดชอบการให้บริการสถานประกอบกิจการออกเป็น 6 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ดินแดง ให้บริการ 9 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตวังทองหลาง เขตห้วยขวาง เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 หลักสี่ ให้บริการ 7 เขต ได้แก่ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตลาดพร้าว เขตสายไหม และเขตดอนเมือง, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 มีนบุรี ให้บริการ 9 เขต ได้แก่ เขตมีนบุรี เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตประเวศ เขตสะพานสูง เขตคันนายาว เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และเขตหนองจอก นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 บางแค ให้บริการ 8 เขต ได้แก่ เขตตลิ่งชัน เขตบางแค เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตบางพลัด เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม และเขตทวีวัฒนา, สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ราษฎร์บูรณะ ให้บริการ 7 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตธนบุรี เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางบอน และเขตคลองสาน และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (สพร. 13 กท.) ให้บริการ 10 เขต ได้แก่ เขตวัฒนา เขตปทุมวัน เขตบางนา เขตพระโขนง เขตสาทร เขตบางรัก เขตบางคอแหลม เขตคลองเตย เขตสวนหลวง และเขตยานนาวา การชี้แจงในครั้งนี้ จะช่วยให้ตัวแทนจากสถานประกอบกิจการมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การรับรองหลักสูตรดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้น ด้านนางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการสพร. 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สปก.หลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนพนักงานรับผิดชอบ พนักงานใหม่จึงขาดความรู้ความเข้าใจ และบางแห่งพนักงานมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการยื่นรับรองหลักสูตรการฝึกอบรม จึงพบปัญหาหลักสูตรที่ยื่นไม่ผ่านการรับรอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สามารถใช้ยกเว้นภาษีเงินได้ต่อสรรพากรด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบกิจการ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว มีความเข้าใจตรงกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น(วันที่ 24 ธันวาคม 2562) ณ ห้องเบญจรงค์บอลรูม โรงแรมรอแยลเบญจา ถนนสุขุมวิท ซอย 5 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. โดยมีสถานประกอบกิจการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้ารับฟังคำชี้แจงกว่า 300 คน นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์การให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานแก่สถานประกอบกิจการด้วย ซึ่งในช่วงนี้ยังได้รับสิทธิ์การกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย สามารถสอบถามเติมได้ที่ 0 2391 1007

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ