กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
วันนี้พลังงานกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญแนวโน้มการใช้พลังงานประเภทต่างๆเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม เราต้องอย่าลืมว่ากว่าร้อยปีที่ผ่านมาหลังจากที่เราค้นพบและรู้จักเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) ประเภทต่างๆ เช่น นำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม พลังงานหลักที่เรายังคงใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง
เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ อินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์เมื่อหลายล้านปีก่อน เราต้องยอมรับว่าตอนนี้เรากำลังใช้ของที่เกิดขึ้นในอดีตอยู่ และใช้กันอย่างแพร่หลายไม่บันยะบันยังกันมาเวลานาน สมบัติเก่าที่ใช้เวลานับล้านปีในการกำเนิดถูกเรานำมันมาเผาเพียงไม่กี่วินาที แน่นอนว่าจะมีปริมาณลดลงและมีราคาที่สูงขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตามมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็คือ ก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานเดิมที่มีอยู่จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในปัจจุบัน และที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในวันนี้คงเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) นั่นเอง พลังงานหมุนเวียน ก็คือพลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้โดยไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานที่เกิดจากขยะมูลฝอย ทั้งจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม พลังงานเหล่านี้แตกต่างจากพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น
แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีให้ใช้อยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ จึงทำให้ยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิมที่ถูกใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้ทั้งหมด ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญนั่นก็คือ "เสถียรภาพในการใช้งาน" ตัวอย่างใกล้ตัวเห็นจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีอยู่ในช่วง 12.00 - 16.00 น ในขณะที่ช่วงเวลาที่เราต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด คือ หลังเลิกงาน 18.00 - 21.00 น และอีกข้อจำกัดก็คือในฤดูฝนเราจะทำอย่างไรหากมีเมฆฝนหรือเกิดฝนฟ้าคะนองทั้งวันทั้งคืนและไม่มีแสงแดด เช่น ภาคใต้ ซึ่งมีสภาพอากาศแบบ ฝน 8 แดด 4 โดยเฉพาะพลังงานลมซึ่งก็หนักกว่า นึกจะมาก็มา บางครั้งมาเบาๆ บางช่วงมาเป็นพายุ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พลังงานที่ผลิตได้อาจจะไม่พอเพียงกับความต้องการของเราหรือยากที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า นี่แหละที่เรียกว่า "ขาดเสถียรภาพในการใช้" หากเป็นการใช้ในบ้านเรือนทั่วไปก็คงไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ แต่หากเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมคงเสียหายเป็นจำนวนมาก
แน่นอนวิธีแก้ไขก็มี หากต้องการใช้แหล่งพลังงานธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ ก็มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาเสริม เช่น ระบบสะสมพลังงาน (Energy storage) และ ระบบจัดการการใช้พลังงาน (Energy management) แน่นอนเทคโนโลยีเหล่านี้มาพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ปัญหาเสถียรภาพของพลังงานที่ผลิตจากแหล่งพลังงานจากธรรมชาติมิใช่เกิดกับระบบเล็กๆ เพียงเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อกับระบบสายส่งเพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าคืนสู่ทางการไฟฟ้า ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าส่งเสริมในการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญยังเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและลดปริมาณการนำเข้าพลังงานสิ้นเปลืองบางประเภทจากต่างประเทศได้อีกด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่าสามารถทำได้อย่างจำนวนจำกัด เพราะหากมากเกินไปจะทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศขาดเสถียรภาพไม่ต่างจากระบบเล็กๆเลย เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ต้นทุนในการบริหารจัดการสูงขึ้น สุดท้ายกลายเป็นภาระที่พวกเราประชาชนทั่วไปต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มสูงขึ้น
ผมเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาด ร่วมเป็นแนวร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมและลดปริมาณการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศครับ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการซึ่งทำเป็นธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อสายและส่งจำหน่ายคืนทางการคงจะต้องทำในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะหากมากเกินไปจนอาจส่งผลต่อเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศ อันนี้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาของประเทศ
โดย ผศ.ดร.ฐกฤต ปานขลิบ
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม