กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดเตรียมความพร้อมห้องฉุกเฉิน บุคลากร ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ 4จังหวัดอีสานตอนล่าง ที่อาจมีอาการกำเริบป่วยฉุกเฉินในช่วงปีใหม่ตลอด 24 ชั่วโมง แนะครอบครัวดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดเป็นพิเศษ โดยเข้ม 3 อย่า คือ อย่าให้ขาดยา อย่าให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดรวมทั้งสารเสพติด และอย่าให้อดนอน พร้อมแนะให้สังเกต 5 สัญญาณเตือนอาการทางจิตกำเริบ เช่น หงุดหงิด ไม่หลับไม่นอน หวาดระแวง หากมีอาการใดอาการหนึ่งปรากฎ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รพ.ใกล้บ้าน
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงเข้าถึงสิ่งต้องห้ามอันตรายและเสี่ยงมีอาการกำเริบได้ง่าย โดยเฉพาะรายเก่าที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วแต่ยังต้องกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่าร้อยละ 90 จะอยู่กับครอบครัว โดยรพ.จิตเวชฯได้จัดเตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่อาการกำเริบฉุกเฉินร่วมกับสถานพยาบาลเครือข่ายทุกระดับที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ อย่างเต็มที่ โดยจัดทีมบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2562 ถึงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563
"การป้องกันผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการป่วยกำเริบในช่วงวันหยุดยาว 5 วันนี้ ขอความร่วมมือให้ครอบครัวช่วยกันดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดเป็นพิเศษ โดยเน้น 3 อย่า คือ1.อย่าให้ผู้ป่วยขาดยา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีเหมือนคนปกติแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด จะต้องกินยาต่อเนื่องให้ครบตามที่แพทย์สั่ง 2.อย่าให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งเหล้าพื้นบ้านเช่น กระแช่ สาโท เหล้ากลั่น เหล้ายาดองสมุนไพรทุกชนิด รวมทั้งการใช้สารเสพติดและบุหรี่ และ3.อย่าให้ผู้ป่วยอดนอน เนื่องจากการอดนอนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อความเครียด กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้ "นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า สำหรับสัญญานเตือนอาการทางจิตกำเริบ มี 5 อาการดังนี้ 1.ไม่หลับไม่นอน คือผู้ป่วยไม่ยอมนอน หรือหลับๆตื่นๆ 2. เดินไปมา เช่นนั่งไม่ติดที่ เดินไปเดินมา หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ 3. พูดจาคนเดียวเช่น พูด หรือยิ้ม หัวเราะคนเดียว 4. มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย และ5.หวาดระแวง คือมีอาการหวาดระแวง คิดว่ามีคนไม่หวังดีนินทาว่าร้าย มีคนคอยติดตามจะทำร้าย เป็นต้น หากพบผู้ป่วยจิตเวชมีอาการที่กล่าวมาปรากฏในข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รพ.ใกล้บ้านทันที ไม่ต้องรอให้อาการถึงขั้นรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันการ ทั้งนี้ในช่วง7 วันในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา รพ.จิตเวชฯได้รับผู้ป่วยจิตเวชอาการป่วยกำเริบเข้ารักษาจำนวน 39 คน ร้อยละ 80 เกิดมาจากขาดยา ที่เหลือเกิดจากดื่มเหล้า
อย่างไรก็ดี เทศกาลปีใหม่จัดเป็นเทศกาลแห่งความสุข สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า ครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวชไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ซึ่งอาการทางจิตสงบดีแล้ว สามารถพาผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้ เช่น พาไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือพาไปท่องเที่ยวด้วย จะเกิดผลดีทางใจอย่างมาก ผู้ป่วยจะได้รับความสุข เกิดความรู้สึกว่ามีคุณค่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่โดดเดี่ยว และไม่เครียด ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการดีแล้วและอยู่ในชุมชน ขอแนะนำให้ใช้โอกาสเทศกาลปีใหม่นี้ ระลึกถึงความภาคภูมิใจ ความดี ความสุขที่ได้กระทำมาในรอบปี และให้ลงมือทำต่ออย่างต่อเนื่อง จะเป็นการสร้างพลังใจให้ตนเอง และมองเห็นอนาคตข้างหน้าอย่างมีความหวัง ในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดที่กลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลนี้ ก็มีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจผู้ป่วยจิตเวช ด้วยการใช้คำพูดเชิงบวก รับฟังและไม่ตำหนิผู้ป่วยเมื่อมีปัญหา นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวในตอนท้าย