กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องว่า กทม. ได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่คนในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักอนามัย กทม. ได้จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ทำความสะอาดบ้านและกำจัดภาชนะที่อาจทำให้เกิดน้ำขังตามหลัก 5 ป และ 1 ข ได้แก่ ปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และขัดล้างภาชนะ ขณะเดียวกันได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพทีม SRRT ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ฝึกอบรมพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในสถานพยาบาล รวมทั้งพัฒนาทักษะการจัดการพาหะนำโรคให้ผู้ปฏิบัติงานจาก 50 สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง สถานพยาบาล รวมถึงผู้แทนภาคประชาชน นอกจากนั้นยังใช้มาตรการเร่งด่วนควบคุมการระบาดของโรคภายใน 24 ชั่วโมง ภายหลังได้รับแจ้งการระบาด โดยประกาศแจ้งเตือนประชาชน พร้อมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบริเวณรอบบ้านอย่างน้อย 100 เมตร ตลอดจนพ่นสารเคมีกำจัดยุงให้ครอบคลุมพื้นที่รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ กทม. ยังได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก รวมถึงอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ ซึ่งความแตกต่างระหว่างโรคไข้ปวดข้อยุงลายกับโรคไข้เลือดออก คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้ปวดข้อยุงลายจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออกและระยะเวลาของไข้สั้นกว่าประมาณ 2 วัน ในขณะที่ไข้เลือดออก ไข้จะลดลงในเวลาประมาณ 4 วัน หากอาการข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลในสังกัด ทั้ง 11 แห่ง ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด รวมทั้งจัดทำสื่ออินโฟกราฟิก วิดีโอคลิป ให้ความรู้โรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ และ Facebook Fanpage : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน