กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
สวพ.6งัดมาตรการคุมเข้มโรงคัดบรรจุและมีแผนต้อนมือตัดทุเรียนขึ้นทะเบียน ดัดหลังพ่อค้าส่งออกทุเรียนอ่อนไปตลาดจีน พร้อมจับมือชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจันทบุรีช่วยตรวจ ประเมินรับรองแปลง GAP ไม้ผลที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ คาดปี63จะสามารถส่งออกทุเรียนไปจีน 6 แสนตัน
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าผลไม้สดไทย 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงมากขึ้น พร้อมกำชับให้ทางการไทยปฏิบัติ"พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกไปจีนต้องเข้มงวดในการขึ้นทะเบียนและได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP)มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางการจีนได้ตรวจพบแมลงศัตรูพืชในทุเรียน (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และทุเรียนอ่อนจึงมีคำเตือนมาเป็นระยะๆเพื่อให้ทางการไทยเร่งปรับปรุง
จากสถานการณ์ดังกล่าว สวพ.6 จึงวางกลยุทธ์มาตรการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ฤดูกาลผลิต 2563 และการออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP ใหม่ ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เช่น เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนไม่ได้คุณภาพหรือทุเรียนอ่อน สวพ.มีแผนคุมเข้มโรงคัดบรรจุตั้งแต่ต้นทางคือ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการตัดทุเรียนที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการแก่มือตัดทุเรียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ สวพ.6ยังได้บูรณการความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจันทบุรีช่วยทำหน้าที่ในการตรวจ ประเมินแปลงGAP เบื้องต้นแก่สมาชิกสหกรณ์ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อให้ทันต่อฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุดในปี 2563 โดยขณะนี้สวพ.6 อยู่ระหว่างถ่ายทอดและอบรมความรู้การประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรฐานGAPให้กับเจ้าหน้าที่สหกรณ์เพื่อจะได้มีความรู้ในการตรวจรับรองแปลง GAP เบื้องต้นให้กับสวพ.6 ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาสวพ.6ขาดงบประมาณและกำลังคนในการออกทำหน้าที่ตรวจสอบและให้การรับรองแปลงGAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งยังค้างการตรวจรับรองอยู่จำนวนนับหมื่นแปลงและได้ดำเนินการตรวจรับรองแล้วจำนวน กว่า10,000 แปลงเช่นเดียวกัน
"สวพ.6วางเป้าหมายให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่ช่วยตรวจประเมินและให้การรับรองแปลงGAP สวนผลไม้ของสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมดให้แล้วเสร็จ 100% ภายในเดือนมีนาคม 2563 นี้ ส่วนสวพ.6ก็จะได้แบ่งกำลังคนเร่งตรวจสอบ ประเมินเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูกาลส่งออกทุเรียนและมังคุดที่เริ่มทยอยออกผลผลิตในต้นเดือนมกราคม 2563 นี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการที่จีนทั้งเงื่อนไขงดนำเข้าผลไม้จากไทยในอนาคต " นายชลธี กล่าว
ปัจจุบันไม้ผล 3 ชนิดของภาคตะวันออกคือทุเรียน มังคุด และลำไยทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่าแสนล้านบาทและสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรชาวสวน คงไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหาการส่งออกจากการที่โรงคัดบรรจุไม่มี GMP และแปลงผลิตพืชไม่มี GAP โดยคาดว่าปี 2563 นี้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนประมาณ 600,000 ตันเพิ่มจากปี 2562 ที่ส่งออกได้ กว่า580,000 ตันเท่านั้นเนื่องจากมีพื้นที่ทุเรียนที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น