กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
'สงขลา' นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวในภาคใต้ ด้วยมนต์เสน่ห์ของท้องทะเลอ่าวไทยที่สวยงาม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงสถาปัตยกรรมและวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองสงขลา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มุ่งมั่นพัฒนาเมืองสงขลา ด้วยการเปิด 'ลานประติมากรรมและงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์'
จุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ณ ริมหาดชลาทัศน์ ที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสงขลา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ พิธีเปิดโครงการครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี โดยมีนักวิชาการ คณะอาจารย์ ผู้นำชุมชม พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "สงขลานับเป็นบ้านอีกหลังของเชฟรอน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสงขลาผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าหาดชลาทัศน์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง 'เศรษฐพัฒน์' ศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศ ที่เชฟรอนเป็นผู้ดำเนินการและจะครบรอบ 40 ปี ในปี พ.ศ.2563 นี้ นอกจากนั้น วัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยประติมากรรมที่แฝงเรื่องราวของจังหวัดสงขลาเท่านั้น แต่ยังหวังให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเยาวชนและชาวสงขลา โดยจะมีการจัดกิจกรรมด้านการศึกษาและศิลปะวัฒนธรรม ตลอดทั้งปีอีกด้วย"
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยลานประติมากรรมและงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์นี้ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ด้วยการสนับสนุนงบประมาณกว่า 2,000,000 บาท จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในปี พ.ศ.2560 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ผ่านการผสานความร่วมมือและระดมความคิดร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่ ทั้งนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา ในการออกแบบและจัดทำประติมากรรมรูปปั้นหนูแมว ที่มีเรื่องราวตามตำนานเล่าขานของชาวสงขลา ให้กลายเป็นจุดแลนด์มาร์คและเป็นจุดเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน