กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ควรระบุถึงสารพิษและเชื้อจุลินทรีย์ สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ โลหะหนัก ที่แอบแฝงอยู่ในฝุ่น PM2.5 ว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้รายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนรับทราบข้อมูล พร้อมแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศของ กทม. แบบเรียลไทม์ได้ที่ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม www.prbangkok.comสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร และ Facebook : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ขณะเดียวกันได้เพิ่มความถี่การแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศเป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันท่วงที อีกทั้งมีแผนการปรับปรุงระบบประมวลผลให้สามารถรองรับการเฝ้าระวังและการพยากรณ์คุณภาพอากาศให้ครอบคลุมสารมลพิษที่สำคัญทุกชนิด รวมถึงจัดทำระบบรายงานและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลคุณภาพอากาศไปพิจารณาหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศต่อตนเอง ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากฝุ่น PM2.5 และวิธีป้องกันตนเองจากการสัมผัสฝุ่นละออง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และนิทรรศการ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกิน 3 วัน สำนักการแพทย์ กทม. จะสั่งการให้โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลาง เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อให้คำปรึกษาและนำไปสู่การรักษาพยาบาล รวมถึงจัดตั้งคลินิกมลพิษทางอากาศออนไลน์ ผ่านสื่อออนไลน์ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงผลิตสื่อ อินโฟกราฟิก วิดีโอคลิป
ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่น โรคที่มากับฝุ่น และวิธีการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง นอกจากนั้น สำนักอนามัย กทม. ยังได้แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ ระบบสมอง ระบบหลอดเลือด ใส่หน้ากาก N95 เมื่อออกนอกบ้าน รวมทั้งกลุ่มที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรใส่หน้ากาก N95 ในระหว่างทำงาน และควรมีช่วงพัก 5 - 10 นาที ในทุกหนึ่งชั่วโมง