กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--เอบีเอ็ม คอนเน็ค
การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการส่งเสริมสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น เป็นพันธกิจหลักของ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ผู้ค้นคว้าวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรมระดับโลก เป็นระยะเวลา 55 ปีที่จีเอสเคเคียงคู่สังคมไทย จีเอสเคตระหนักถึงปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยในด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ประสบภัยต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นและบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้โดยสะดวก จีเอสเคจึงเดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างสุขภาพแก่คนไทยอย่างเท่าเทียมกัน เพราะสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่สำคัญที่สุด
เส้นทางการส่งเสริมสุขภาพคนไทยของจีเอสเค
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จีเอสเคเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2507 โดยนำเสนอยาและวัคซีนนวัตกรรมเพื่อการรักษาและป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนภายใต้นโยบาย "ยาดี เข้าถึงได้" ซึ่งเป็นนโยบายระดับโลกของบริษัท เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม โดยมีพลังจากองค์กรพันธมิตรและจิตอาสาซึ่งเป็นพนักงานของ
จีเอสเคที่มีความมุ่งมั่นอยากทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีสุขภาพที่ดี เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ
สร้างเสริมพยาบาลชุมชน
ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน จีเอสเค ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการมอบทุนการศึกษา "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" แก่นักเรียนวิทยาลัยพยาบาลทั่วประเทศ รวม 20 รุ่น เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทให้มีโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพพยาบาลและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขในชุมชนท้องถิ่นของตนหลังจบการศึกษา อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลในบางพื้นที่ เนื่องจากความต้องการด้านบริการสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากโครงการนี้จะทำให้มีบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชนเพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศยังมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น จากการดูแลอย่างใกล้ชิดของพยาบาลชุมชน ปัจจุบัน มีบัณฑิตภายใต้โครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" ออกไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 640 คนแล้ว
นายแพทย์สมชาย ธรรมสารโสภณ อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนที่อยู่ห่างไกล สถาบันพระบรมราชชนกซึ่งมีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพื่อให้บริการแก่ประชาชน จึงได้ร่วมมือกับจีเอสเค ดำเนินโครงการให้ทุนการศึกษา "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทให้มีโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพพยาบาล และปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขในชุมชนท้องถิ่นของตนหลังจบการศึกษา ทำให้มีบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น"
โครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน"ได้ช่วยสนับสนุนให้สถาบันพระบรมราชชนกจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนผ่านบทบาทหน้าที่ของพยาบาลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
ลดช่องว่างด้านสุขภาพของผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบภัยทั่วประเทศ
ในปี 2554 ถึงปัจจุบัน จีเอสเค ดำเนินโครงการ "จีเอสเค ธนาคารยาเพื่อบรรเทาทุกข์" ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาคุณภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยจีเอสเคจะบริจาคยาและวัคซีนนวัตกรรมของจีเอสเคผ่านสภาชาดไทยไปยังผู้ที่ขาดแคลน นอกจากนี้ จีเอสเคยังลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้บริการหน่วยแพทย์-พยาบาลเคลื่อนที่ ร่วมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของเรือพระราชทานเวชพาหน์ที่ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนตามริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องในเขตชายแดนภาคใต้ และกิจกรรมบรรเทาภัยหนาว โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของบริษัทที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ที่จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ของใช้ส่วนตัวและยารักษาโรคพื้นฐาน
พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "โครงการ จีเอสเค ธนาคารยาเพื่อบรรเทาทุกข์ ช่วยเติมเต็มความต้องการสุขภาพอนามัยให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารที่การแพทย์เข้าถึงได้ยาก เพื่อช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอายุที่ยืนยาว และมีสุขภาพที่ดีขึ้น โครงการนี้ไม่เพียงช่วยเหลือด้านยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เท่านั้น แต่ทีมงานของจีเอสเคทั้ง แพทย์ พยาบาล และพนักงานจิตอาสา ยังให้บริการตรวจและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ร่วมกับการทำงานของสภากาชาดไทยด้วย"
คว้ารางวัลองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น
ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีเอสเคได้รับรางวัล "องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น" ต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน โดยในปี 2562 จีเอสเคได้รับรางวัลในระดับแพลตินัม จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ตอกย้ำถึงมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจของ GSK บริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบาย "ยาดี เข้าถึงได้" เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาและเข้าถึงสุขภาพดีของประชาชนที่ด้อยโอกาสและผู้ประสบภัย เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ จากความมุ่งมั่นในการดำเนินตามนโยบาย "ยาดี เข้าถึงได้" นี้ ทำให้จีเอสเคได้รับ "การจัดอันดับสูงสุดของดัชนีการเข้าถึงยา" (The Access to Medicine Index) หรือ AMI โดยมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยา (The Access to Medicine Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนามีการเข้าถึงยาและวัคซีนได้มากขึ้น โดยจีเอสเคได้รับการจัดอันดับสูงสุด AMI ตั้งแต่ปี 2551
"จีเอสเค มุ่งมั่นตอบแทนสังคมไทยตลอดระยะเวลากว่า 55 ปี เราขอขอบคุณภาครัฐ เอกชน พันธมิตร ที่ให้การสนับสนุนจีเอสเคมาโดยตลอด รวมทั้งความทุ่มเทของบุคลากรแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และพนักงานจิตอาสาทุกคน สิ่งที่จีเอสเคได้ดำเนินการทั้งหมดมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้ปณิธาน "มุ่งมั่น สร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำกิจกรรมได้มากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้น" นายวิริยะกล่าวในตอนท้าย