กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าว "มอบของขวัญปีใหม่ การขับเคลื่อนภาคการเกษตร ปี 2563" ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยยึดหลักบูรณาการการทำงานร่วมกัน และดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชนโดยตรง ซึ่งในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานที่สำคัญในปี 2563 ประกอบด้วย
1. การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ
- ก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิง โดยจะดำเนินการในปี 2563 รวมทั้งสิ้น 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในปี 2563 โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม.
- ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีการใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้าน การเกษตรกรรม – อุปโภคบริโภค จึงมีแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในอนาคตจะพิจารณาผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา
- ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว เพื่อติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 - 13 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่
- การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยกรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 จำนวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรรับทราบ สถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก มาเป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
- ขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ จำนวน 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลา ตกกล้า ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย
2. ส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์
- ส่งเสริมเกษตรยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา
- ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 354,614 ราย เกษตรกรรมทางเลือก/เกษตรผสมผสาน 16,110 ราย ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร 44,780 ราย
- ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
- การผลิตพืชในระบบเกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ได้แก่ การใช้พืชปุ๋ยสด ชนิดต่าง ๆ อาทิ ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม มะแฮะ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งใช้จุลินทรีย์เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช โดยปี 2563 มีเป้าหมายสนับสนุนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 3 ระดับ ดังนี้ กลุ่มเตรียมความพร้อม สนับสนุนปัจจัยการปรับปรุงดิน และกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (PGS) 1,575 ราย พื้นที่ 15,750 ไร่
- จัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมทั้งผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ไปใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565
- การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง จำนวน 481,000 ไร่ และอบรมให้ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ด้านพืช ประมง หม่อนไหม บัญชี และการใช้ชีวินทรีย์ รวม 10,550 ราย ตรวจรับรองแปลงพืชอินทรีย์ 3,200 ฟาร์ม โรงงานแปรรูป/คัดบรรจุ/โรงรม จำหน่ายพืชอินทรีย์ 80 ฟาร์ม พร้อมรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ 2 แห่ง
- ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area base) เช่น(1) พื้นที่ใกล้โรงเรียน (2) พื้นที่ใกล้โรงแรม (3) พื้นที่ใกล้โรงพยาบาล จัดทำโครงการ "โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย"จำนวน 896 แห่ง ทั่วประเทศ โดยสนับสนุนการจัดซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำอาหารปลอดภัยให้กับผู้ป่วย และจัดให้มีการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาล
- สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเลือกซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์
- ส่งเสริมเกษตรปลอดภัย
- ตรวจสอบปัจจัยการผลิต/ศัตรูพืช การออกใบรับรอง และควบคุมกำกับดูแล พ.ร.บ. โดยตรวจสอบปัจจัยการผลิต/สินค้าพืช/ผลิตภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตร 150,000 ตัวอย่าง ออกใบรับรองสุขอนามัย (ปลอดศัตรูพืช) 300,000 ฉบับ ใบรับรองสุขอนามัยพืช/สารพิษตกค้าง/สารปนเปื้อน 63,000 ฉบับ ใบอนุญาตตามกฎหมาย 100,000 ฉบับ และตรวจสอบร้านค้า/สินค้าเกษตร 52,000 ราย
- กำหนดและจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร 15 เรื่อง การพัฒนาระบบสารสนเทศ 3 ระบบ การรับรองและตรวจติดตามหน่วยงานตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานสากล 24 หน่วย-ขอบข่าย การกำกับ ดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตร 3 กลุ่มสินค้า และการประชุมเจรจาเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร 20 ครั้ง
- มาตรการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมี
โดยจัดทำอินโฟกราฟิกและคลิปวีดีโอ เรื่อง การใช้สารเคมีทางการเกษตรตามความจำเป็น และการใช้วิธีการกำจัดวัชพืชและป้องกันกำจัดโรคพืชโดยวิธีอื่น เช่น เครื่องจักรกลเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านเวทีโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับสารอินทรีย์ต่าง ๆ ได้แก่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก พด. ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และมาตรการพัฒนาระบบปลูกพืชและเขตกรรมที่เหมาะสม
- การพัฒนาสารชีวภัณฑ์และฮอร์โมนพืช ด้านควบคุมพืช ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยในปี 2563 มีการผลิตสารเร่งจุลินทรีย์ พด. 6,733,500 ซอง รวมถึงสร้างศูนย์บ่มเพาะในส่วนราชการและกลุ่มเกษตรกรให้เป็นศูนย์เรียนรู้และกระจายชีวภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนและให้บริการในด้านวิชาการและผลิตชีวภัณฑ์ใช้เอง พร้อมถ่ายทอดชีวภัณฑ์ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช 17 ชนิด อาทิ เชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส (Bs) เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง
- ดำเนินมาตรการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแทนแรงงานเกษตร
สร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ด้วยการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร 4,700 ราย
3. ใช้ระบบตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ/ล้นตลาด
- ขยายช่องทางตลาดเกษตรกร /จัดหาตลาดใหม่เพิ่ม
- โดยการเข้าร่วมกิจกรรม/งานเทศกาลยังต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานของไทย ร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ นำผลิตภัณฑ์สินค้าจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ ภายใต้ชื่อ "Co-op click" รวมถึง นโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ สู่ไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 ในการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ DGTFarm หรือ ดิจิตอลฟาร์ม ผ่านทาง www.dgtfarm.com และ อตก. เดลิเวอรี่ ผ่านทาง www.ortorkor.com
- เปิดตลาดการค้าสัตว์ปีกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มนอกเหนือจากสหรัฐอาหรับอามิเรต และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสหภาพยุโรปคาดว่าปริมาณการส่งออกสัตว์ปีกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 โดยส่งออกเนื้อไก่ จำนวน 970,770 ตัน มูลค่า 116,589 ล้านบาท
- สร้างตลาดออนไลน์โดยร่วมมือกับ LAZADA Thailand (Kick off ม.ค. 63)
กระทรวงเกษตรฯ ขยายความร่วมมือสู่แพลตฟอร์มลาซาด้า ผู้นำอีคอมเมิร์ชในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการหารือกับทีมบริหารงานผู้ขายลาซาด้าเพื่อสร้างโอกาสร่วมกันให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาความรู้แบบยั่งยืนโดย สามารถเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากจะช่วยในเรื่องการเพิ่มช่องทางการตลาด ให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตในช่วงผลผลิตออกตลาดมากแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด สามารถทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ทำการซื้อขายกับผู้ซื้อ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด ลดความเหลื่อมล้ำ และยังสามารถนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ดี จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในเบื้องต้นจะเน้นจัดกิจกรรมอบรมทักษะให้แก่กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มYoung Smart Farmer
- พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer
พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง โดยสร้างและพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพในการประกอบอาชีพด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด รวมถึงได้รับการพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม นำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมสู่ การเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตร รวมทั้งสิ้น 84,312 ราย
- เสริมสร้างความเข้มแข็งวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์
- พัฒนาวิสาหกิจสู่ความเป็นมืออาชีพ 444 แห่ง ด้วยการสอนแนะการจัดทำบัญชีแก่วิสาหกิจชุมชน การจัดทำงบการเงิน การใช้ข้อมูลทางบัญชีในการบริหารจัดการ กำกับแนะนำการจัดทำบัญชี และติดตามผลการจัดทำบัญชี
- พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและบริการ 154 แห่ง ด้วยการส่งเสริมกิจการวิสาหกิจชุมชนและสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คุณภาพมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการธุรกิจ และการแข่งขันทางการตลาด เพื่อให้กิจการวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้
- ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด
- พัฒนาระบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร โดยส่งเสริมแนะนำการบริหารจัดการการวางแผนการดำเนินงานดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมหลักการอุดมการณ์ วิธีการสหกรณ์ และกำกับควบคุมดูแลให้ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและกฎหมาย 12,958 แห่ง
- บริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีให้มีคุณภาพ โดยการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ด้วยการตรวจสอบบัญชีประจำปีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 11,800 แห่ง ตรวจสอบความถูกต้องในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างสหกรณ์และสมาชิก 24,500 ราย ฝึกอบรมเศรษฐกิจการเงินขั้นพื้นฐานแก่สมาชิกสหกรณ์ 10,000 ราย พัฒนาศักยภาพด้านการบัญชีแก่สมาชิกสหกรณ์และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 24,000 ราย พัฒนามาตรฐานการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 500 แห่ง และพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ตั้งใหม่ 100 แห่ง
- ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
- พัฒนาศักยภาพการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว การแปรรูปสัตว์น้ำ พร้อมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด
4. ลดต้นทุนการผลิต
- ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยลง 30%
- ตรวจวิเคราะห์ดินรายแปลง เพื่อแนะนำการใช้ปุ๋ยตามชนิดของดิน พืช ในอัตราที่เหมาะสม จะได้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ พร้อมทั้งเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยตั้งกลุ่มการทำและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปลดปล่อย ธาตุอาหารพืช และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- อบรมส่งเสริมปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยการวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยแก่สมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 แห่ง สมาชิกจำนวน 7,500 ราย และอบรมสมาชิกกลุ่มเป้าหมายในสถาบันเกษตรกร 150 แห่ง แห่งละ 50 ราย จำนวน 7,500 ราย พร้อมด้วยอุดหนุนเครื่องผสมปุ๋ยแก่สหกรณ์ 16 แห่ง
- ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรในการผลิตปุ๋ยใช้เอง (ปุ๋ยหมัก/ชีวภาพ)
- เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้วยปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและต้นทุนการผลิตสูงทำให้เกษตรกรประสบปัญหามีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดินที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต 400 แห่ง/เกษตรกร 40,000 ราย ทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่าเกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงบำรุงดินอีกทั้งผลักดันให้สถาบันเกษตรกรเป็นศูนย์บริการตรวจและพัฒนาดินลดต้นทุนการผลิต
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ตรงตามความต้องการของตลาดและสอดคล้องสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง
- พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช ด้วยการฝึกอบรมด้านเกษตรอัจฉริยะและจัดสัมมนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตข้าว 3 เทคโนโลยี ประกอบด้วย 1) การสร้าง Application Programming Interface เพื่อพัฒนา ความเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ด้านข้าว 2) การจัดทำ WebGis เพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ และการเตือนภัย การปลูกข้าว 3) การพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมตรวจวัดเพื่อการพัฒนาระบบเตือนภัยและประเมินผลผลิตของข้าวด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
- พัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา ด้วยการก่อสร้างอาคารวิจัยกัญชาและจัดเตรียมสถานที่การเก็บรักษา การควบคุมการใช้และการปลูกกัญชา สำหรับใช้ในการวิจัยและปลูกกัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในจังหวัดเชียงราย
- ส่งเสริมการทำระบบฟาร์มอัจฉริยะ ด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลข้าวอัจฉริยะ 1 ระบบ เป็นการพัฒนาระบบข้อมูล Big data ด้านข้าวและชาวนา
- การพัฒนาระบบตรวจสอบติดตามออกซิเจนในบ่อเลี้ยงปลากะพงขาวระบบหมุนเวียนโดยใช้ Programmable Logic Controller (PLC) และพัฒนาระบบตรวจติดตามคุณภาพน้ำแบบเวลาจริง (Real-time) ในแหล่งเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้กับระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- สนับสนุนโลจิสติกส์การเกษตร
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร เพื่อกำหนดกรอบการจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563 – 2565 เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อน 3 คณะ ได้แก่ (1) คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกและบริการทางการค้าสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น การพัฒนาระบบ E-Certify และ E-Passport สำหรับส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวมูนพร้อมมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ไปยังสิบเมืองเอกของประเทศจีน (2) คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบกระจายและขนส่งสินค้าเกษตร เพื่อขยายช่องทางตลาดสำหรับสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบกระจายและขนส่งสินค้าผลไม้ เช่น มะม่วงและทุเรียน โดยใช้ดูไบเป็นศูนย์กลาง (Hub) กระจายและขนส่งสินค้าเกษตร เนื่องจากดูไบเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบใน 6 ทวีป 78 ท่าเรือ มี free zone มากกว่า 24 แห่ง และ (3) คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางหรือรูปแบบการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรใน 3 ระดับ ได้แก่ โลจิสติกส์ระดับท้องถิ่น (Domestic Logistics) โลจิสติกส์ระดับภูมิภาค (Regional Logistics) และโลจิสติกส์ระดับสากล (Global Logistics) ซึ่งผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าสินค้าเกษตร
- ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน
- มันสำปะหลัง โดยผลิตพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพดี 20 ล้านท่อน และส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรมันสำปะหลัง
- ปาล์มน้ำมัน โดยผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพดี 300,000 ต้น 500,000 เมล็ดงอก และส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรปาล์มน้ำมัน
5. การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน
- การแก้ไขปัญหา IUU
การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เพื่ออนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลให้เกิดความยั่งยืนและรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามกฎเกณฑ์และแนวทางมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาตรการต่าง ๆ และจัดทำโครงการเพื่อเยียวยา/ลดผลกระทบที่เกิดจากการแก้ไขปัญหา IUU ดังนี้
1) การปรับปรุงการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงมากขึ้น เช่น การขอเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมง ขอเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมง โดย ต้องผ่านการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และไม่กระทบกับปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จะอนุญาตให้ทำการประมงได้อย่างยั่งยืน การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการขอใช้เครื่องมือทำการประมงต่อเรือประมง 1 ลำ สำหรับเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ สามารถขอได้ไม่เกิน 3 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดมือ) โดยให้ทำประมงได้ ครั้งละ 1 เครื่องมือ
2) การนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 โดยมีเรือประมงที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 2,768 ลำ
3) การเพิ่มวันทำการประมง กรมประมงได้ออกประกาศ เรื่อง การจัดสรรเพิ่มวันทำการประมงให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2562 จัดสรรวันทำการประมงทะเลอ่าวไทยและอันดามันเพิ่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวประมงพาณิชย์บางส่วนที่เหลือวันทำประมงไม่เพียงพอไปจนสิ้นสุดรอบปีการประมง 2562 (31 มีนาคม 2563) โดย(1) ฝั่งอ่าวไทย: เรือประมงอวนล้อม เรือประมงอวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และอวนช้อน/ยกปลากะตัก ให้สามารถทำการประมงได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยไม่นับจำนวนวันทำการประมง: ส่วนเรืออวนลาก จะได้รับวันทำการประมงเพิ่มอีกลำละ 30 วัน (2) ฝั่งทะเลอันดามัน : เรือทั้งหมดสามารถออกทำการประมงได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563โดยไม่นับจำนวนวันทำการประมง
4) การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร ในปีงบประมาณ 2563 มีเป้าหมายดำเนินการส่งเสริม พัฒนา องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 144 ชุมชน
- จัดตั้งกองทุนประมงแห่งชาติ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ.... มีนายอรรถพร พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนจากผู้ประกอบการประมงทุกภาคส่วนเป็นอนุกรรมการ ทั้งนี้ ได้มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ได้ยกร่าง พระราชบัญญัติกองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ. .... ประกอบด้วย 6 หมวด 34 มาตรา 6 หมวดประกอบด้วย 1) การจัดตั้งกองทุน 2) การบริหารกิจการของกองทุน 3) สำนักงานกองทุนการประมงแห่งชาติ 4) การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผล 5) การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนและ 6) การกำกับและดูแล ทั้งนี้ กองทุนประมงมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
- การส่งเสริมอาชีพและการจัดหาตลาด
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงได้ส่งเสริมอาชีพโดยมุ่งเน้นที่จะเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคและสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรทุกระดับ ทั้งด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป ตั้งแต่เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน จำหน่ายเป็นเป็นรายได้เสริมและสามารถประกอบเป็นอาชีพได้อย่างมั่งคง โดยการฝึกอบรมให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนปัจจัยการผลิต แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ ด้านการทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- การขึ้นทะเบียนประมง
- จากการที่รัฐบาลเปิดให้จดทะเบียนเรือประมงแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ในครั้งนี้ โดยมีการบูรณาการทำงานระหว่างกรมประมงและกรมเจ้าท่าในพื้นที่ อำนวยความสะดวกแก่ชาวประมงทั้งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะแก่งต่าง ๆ ในทุกช่องทาง เพื่อให้เรือทุกลำได้รับการจดทะเบียนเบียนเรือทั้ง 22 จังหวัด
- หลังจากปิดรับคำขอในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 มีเจ้าของเรือประมงพื้นบ้านมาขอรับหนังสือรับรองจากกรมประมงเพื่อประกอบการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่ากว่า 33,710 ลำ ส่วนเรือที่มีทะเบียนเรือแล้วได้ไปแจ้งขอตรวจวัดและจัดทำอัตลักษณ์เรือกับกรมเจ้าท่า 17,180 ลำ รวมแล้วกองเรือประมงพื้นบ้านน่าจะมี ประมาณ 50,000 กว่าลำ ส่วนผู้ตกหล่นกรมประมงจะพิจารณาร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมเป็นรายกรณีต่อไป ส่วนประมงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้อย่างยืนต่อไป
- การฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อย ให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบแหล่งน้ำจำนวน 550 ล้านตัว แบ่งเป็น สัตว์น้ำจืด 400 ล้านตัว สัตว์น้ำชายฝั่ง 150 ล้านตัว
6. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร
- การจ้างงานของกรมชลประทานในหน้าแล้ง
- กรมชลประทานประเมินการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบลงทุน) สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ซึ่งดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาค ของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลาระหว่าง 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท /คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการ ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้
- การจัดที่ดินทำกิน (สปก.) ให้แก่เกษตรกร
- ดำเนินการตรวจสอบการถือครองที่ดินฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ใน 69 จังหวัด จำนวน 397,235 ราย 519,087 แปลง เนื้อที่ 5,303,031 ไร่
- มีแผนงานจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรในปี 2563 จำนวน 62,000 ราย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว2,350 ราย 2,846 แปลง 26,763.48 ไร่
- การส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด (โค/กระบือ/แพะ)
- โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ (ควาย) แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง ในภาคปศุสัตว์ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1)โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุน 2) โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ 3) โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ 4) โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง 5) กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า (Logistics) เป็นต้น โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้รายละ ไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท
- การควบคุมและป้องกันโรคสัตว์
- การควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ในการป้องกันโรคในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF และแนวเวชปฏิบัติ รวมถึงยกระดับแผนฯ เสนอให้ ครม. เห็นชอบเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.62 จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียน และประเมินความเสี่ยงด้วย Mobile Application "e-SmartPlus" จัดตั้ง war room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ ซ้อมแผนรับมือโรคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ OIE และ FAO ดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด
- การควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยรณรงค์ฉีดวัคซีนฟรีป้องกันโรคทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มีค. – มิย. 63 จะมีการ kick off ทั่วประเทศ (พิธีเปิดการรณรงค์) ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 63 รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวจรจัดและด้อยโอกาสสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า จากเดิมปี 2562 จำนวน 300,000 ตัว/ปี เป็นจำนวน 600,000 ตัว/ปี คิดเป็น 20% ของสัตว์จรจัดและด้อยโอกาส
7. จัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data) และศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC)
- จัดตั้งศูนย์ Big Data ด้านการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ หรือ National Agricultural Big Data ขึ้น เพื่อต้องการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของระบบการผลิตด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และBig Data ด้านสินค้าเกษตร ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐ แต่วิวัฒนาการทางด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงโลกตามยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ส่งผลให้การบริหารจัดการภาคการเกษตร ต้องอาศัยข้อมูลที่ดี มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การทำการเกษตรแม่นยำ Precision Farming และหลักการตลาดนำการเกษตร
การบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสินค้าเกษตร ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวม 10 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ13 สินค้า ประกอบด้วย 1) ข้าว 2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3) สับปะรดโรงงาน 4) มันสำปะหลังโรงงาน 5) อ้อยโรงงาน 6) ยางพารา 7) ปาล์มน้ำมัน 8) ลำไย 9) เงาะ 10) มังคุด 11) ทุเรียน 12) มะพร้าว และ 13) กาแฟโดยมีรายละเอียดของข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.thทั้งนี้ จะสามารถเปิดให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเข้าดูรายงานและใช้ข้อมูลในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามสิทธิ์การเข้าถึง โดยกำหนดให้สามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2563
- จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-technology and innovation center: AIC)
โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำงานลักษณะศูนย์ Agritechในระดับภูมิภาค บูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด ซึ่งจะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน มีการรวบรวม ช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่าง ๆ เพื่อให้ก้าวสู่ศูนย์เกษตร 4.0 ในระดับภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563 นี้
- ตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agri-Map เพื่อจัดทำ Zoning
กำหนดเขตการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร โดยจัดทำระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือในการวางแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านกายภาพ และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งด้านกายภาพใช้ข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของดิน ด้านเศรษฐกิจใช้ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน แหล่งรับซื้อ โรงงาน การตลาด โดยในปี 2563 จัดทำแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญครบวงจร จำนวน 7 สินค้า และศึกษาสินค้าหรือกิจกรรมทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงสนับสนุนมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมไปปลูกพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป้าหมาย จำนวน 100,000 ไร่ และผลักดันการปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสม เพื่อยกระดับรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต
8. พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
จำนวน 882 ศูนย์หลัก ทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายการเกษตร องค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด แก่เกษตรกร ร่วมกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน.