กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--แอบโซลูท พีอาร์
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือธุรกิจโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงให้ธุรกิจมีความพร้อมในโลกดิจิทัลมากขึ้น (Digital Transformation) นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว การวางยุทธศาสตร์ แนวคิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กรรวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำที่พร้อมจะมีการรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง การมีและใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ และการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญยิ่ง บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เผยเคล็ดลับความสำเร็จขององค์กรในการทำ การทรานส์ฟอร์เมชั่น ตัวอย่างกรณีศึกษาจากบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "CKPower" ผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนร่วม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แล้ว การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการวางรากฐานในการดำเนินงานทั้งเรื่องกระบวนการทำงานและการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นของ CKPower ผ่านการทำงานร่วมกัน ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และบริษัทที่ปรึกษาฯ โดยหัวใจความสำเร็จแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรก เริ่มต้นด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น (Transformation Visioning) เฟสที่สอง การเข้าสู่การ ทำทรานส์ฟอร์เมชั่นด้วยความจริงจังและร่วมมือกันทุกส่วน (Transformation Execution) และ เฟสที่สาม มุ่งสานต่อความยั่งยืนจากการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น (Sustain Transformation)
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ระดับโลก ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าจากการทำงานในฐานะที่ปรึกษาโดยเฉพาะด้านการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับลูกค้าองค์กรธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 14 ปี พบว่า หลาย ๆ องค์กรมักจะมองว่าทรานส์ฟอร์เมชั่นคือการนำเทคโนโลยีมาใช้กับองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่โดยแท้จริงแล้วปัจจัยที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้การทำทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนคือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการวางรากฐานในการดำเนินงาน ทั้งกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ทั้งนี้ จากประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับองค์กรธุรกิจชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เอบีมฯ มองว่าการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นระดับองค์กรธุรกิจเป็นการเดินทาง อย่างหนึ่ง (Enterprise Transformation Journey) จากจุดที่เราจะต้องกำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ในการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น แล้วลงมือปฏิบัติการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น และสุดท้ายคือการมุ่งสานต่อความยั่งยืนจากการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น
ทั้งนี้ ในขั้นตอนของเฟสแรกซึ่งเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น เริ่มต้นด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และกำหนดแนวทางของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น ก่อนที่จะเริ่มทำงานในเฟสที่สองคือการลงมือปฏิบัติการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 3 ส่วนหลัก ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ บุคลากร (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology) ไม่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน องค์กรจะต้องช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและมองเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปในทางบวก และเฟสสุดท้าย การมุ่งสานต่อความยั่งยืนจากการทำทรานส์ฟอร์เมชั่น ด้วยการนำแนวคิด ไคเซ็น (Kaizen) หรือแนวคิดที่นำมาใช้ในการบริหารการจัดการการอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ร่วมกันแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ องค์กรต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด (Continuous Improvement) มาเป็นส่วนช่วยทำให้บุคลากรมีแนวความคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการกำหนดให้ ไคเซ็นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicator: KPI) ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
"เฟสที่ท้าทายมากอันหนึ่งของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นคือเฟสที่สอง เพราะมีรายละเอียดที่จำเป็นต้องพิจารณาและขั้นตอนที่ต้องการการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกฝ่ายในการลงมือปฏิบัติ ทั้งนี้ เอบีมฯ เน้นใช้วิธีทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจในลักษณะหุ้นส่วนธุรกิจอย่างแท้จริง (Real Partner) ด้วยการนำความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญของทีมงานที่ปรึกษา พร้อมโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจ ได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงการทำงานของบริษัทและบริษัทในเครือให้ราบรื่น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่ง CKPower คือตัวอย่างของการทรานส์ฟอร์เมชั่นที่น่าพึงพอใจมาก เพื่อให้ลูกค้าของเรามีความเชื่อมั่นและบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายทางธุรกิจ" นายฮาระกล่าว
ด้าน นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "CKPower" หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนร่วม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่า CKPower ทำงานร่วมกับ เอบีม คอนซัลติ้ง ในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยการนำ SAP S/4 HANA มาใช้พร้อมโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดความซับซ้อนด้านไอทีในองค์กร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในองค์กร สำหรับปรับปรุงกระบวนการทำงานเดิมและเตรียมพร้อมเพื่อการเติบโตในอนาคต ควบคู่กับการปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย ด้วยการใช้ Industry Framework ซึ่งเป็นรูปแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับกระบวนการทำงานของธุรกิจ (Industry standard model for business processes) เพื่อให้ CKPower สามารถบรรลุเป้าหมายของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภายในเวลาและตามงบประมาณที่กำหนดไว้ ด้วยการผสมผสานอย่างสมดุลทั้งการใช้ศาสตร์และศิลป์ทางธุรกิจอย่างลงตัว
การนำรูปแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับกระบวนการทำงานของธุรกิจมาใช้ ทำให้บริษัทฯ เข้าใจกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อน จนบรรลุผลของโครงการได้ด้วยคุณภาพที่สูง และสามารถสื่อสารภายในองค์กรได้อย่างราบรื่น ด้วยภาษาที่ง่ายผ่านการแชร์ความรู้ต่าง ๆ โดย เอบีม คอนซัลติ้ง ได้เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทฯ อย่างใกล้ชิดในการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยมีการออกแบบวิธีการพิเศษสำหรับ CKPower โดยเฉพาะ ด้วยการพิจารณาจากบุคลิกภาพของพนักงานในองค์กร ขั้นของการยอมรับ ระดับของความเข้าใจ รวมไปถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลดีที่สุด