ภาพข่าวม.พะเยา เจ้าภาพ การประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 14

ข่าวทั่วไป Monday January 6, 2020 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--มหาวิทยาลัยพะเยา วันนี้วันจันทร์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดในกิจกรรม การประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ ๑๔ ณ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดร.พรเทพ โรจนวสุ เป็นผู้กล่าวรายงานกิจกรรมในครั้งนี้ โดยการประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ ๑๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างนักออกแบบและพัฒนาทางด้านระบบสมองกลฝังตัวในประเทศไทย ให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการแข่งขันในเวทีระดับโลก ดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า " มหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๕ - ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓ โดยการจัดงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรทางด้านการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว ให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งภายใน และต่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในประเทศไทย และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างนักพัฒนา สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนทางด้านระบบสมองกลฝังตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ " นายสุภาพ เข็มเพชร นักศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า "การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นครั้งที่สองในการเข้าร่วม นอกจากกิจกรรมจะส่งเสริมในศาสตร์ที่ตัวเองเรียนมาแล้ว การได้มาพบปะเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ และในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยสยาม ได้เตรียมความพร้อมในการแข่งขันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะหัวข้อในปีนี้ "ระบบติดตามเฝ้าระวัง และจัดการสุขภาวะแก่ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป" ทางมหาวิทยาลัยสยามจึงคิดต่อยอดในการทำระบบติดตามผู้สูงอายุ โดยนำระบบไอทีที่เราคิดค้น ฝังไว้ที่เครื่องประดับ เดิมทีเราอาจจะมี smart watch แต่ครั้งนี้เราอาจจะทำระบบไว้ในเครื่องประดับ เช่นแหวน นาฬิกา หรือสร้อยข้อมือต่าง ๆ หากผู้สูงอายุมีการกระทบกระเทือน หรือ เกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถส่งข้อมูลไปยัง Line หรือ แอพพลิเคชั่น ที่เราตั้งไว้เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างทันท่วงที" กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และแขกผู้เกียรติเข้าร่วมมากกว่า ๒๐ สถาบัน ๓๗ ทีม และจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมดมากกว่า ๑๘๐ ท่าน ซึ่งนิสิตนักศึกษาทุกท่านที่ผ่านกิจกรรมในโครงการนี้ จะได้รับการเพิ่มพูนทั้งความรู้และทักษะในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวนิสิตนักศึกษาเองและองค์กรต่าง ๆ ที่นิสิตนักศึกษากลุ่มนี้จะไปทำงานในอนาคต นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาแต่ละท่านจะมีโอกาสได้แสดงถึงทักษะในการเรียนรู้การพัฒนาการแก้ปัญหา และการนำเสนอให้กับคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านการเรียนการสอนทางด้านระบบสมองกลฝังตัวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ