กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสังคมไทย ที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งช่วยกันแก้ไข แม้ว่าจะเดินถูกบ้างผิดบ้าง ล้วนเป็นความหวังดีต่อกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” มีอยู่จริงในสังคมและเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานนับพันปี เมื่อนั้นจึงจะเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง และช่วยกันแก้ไขด้วยวิถีที่ถูกต้อง
กรมคุมประพฤติโดยสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครเหนือ อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับ “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาผลกระทบหลังการดื่ม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือ “เมาแล้วขับ ถูกจับคุมประพฤติ” ด้วยตระหนักในผลกระทบที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้ตั้งกลุ่ม “อาสาทำความดี” ป้องกันผลกระทบจากการดื่ม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ต่อยอดโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” โดยร่วมกับสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์ (สชอ.) และชมรมรักกันเตือนกัน มูลนิธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาและผู้ถูกคุมประพฤติจำนวน 40 คน ร่วมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์ศึกษา เดินสายอบรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ 10 แห่ง รวมพลังนักศึกษาในโครงการแล้วกว่า 2,000 คน
นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า โครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” เป็นโครงการของกรมคุมประพฤติที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรง เช่น เมาแล้วขับ, การขับรถผิดกฎจราจร ได้มีโอกาสแก้ไขฟื้นฟูตนเองให้กลับเป็นพลเมืองดีและสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่าต่อไป เมื่อศาลได้สั่งคุมประพฤติแล้ว กรมคุมประพฤติจะทำการอบรมให้ความรู้ต่างๆ แก่ผู้ถูกคุมประพฤติ อาทิ การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ กฎหมายเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับ และกฎจราจรต่างๆ รวมทั้งให้ผู้ถูกคุมประพฤติเข้าไปร่วมทำงานบริการสังคม
โดยผู้ที่ได้ผ่านการอบรมในโครงการคืนคนดีสู่สังคมนี้แล้ว จะเกิดจิตสำนึก และเกิดการตระหนักว่าการทำผิดที่เกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับนี้ อาจสร้างความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่ถูกคุมประพฤติให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น ไปเผยแพร่หรือเตือนผู้อื่นไม่ให้กระทำความผิดอย่างตนอีก
“หลังจากได้ดำเนินโครงการมากว่า 4 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และเกิดการตระหนักว่าไม่ควรกระทำความผิดและหลีกเลี่ยงจากการดื่มแล้วขับ ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีจำนวนผู้ที่เข้ามาในโครงการของกรมคุมประพฤติจำนวนกว่า 40,000 ราย โดยมีความผิดฐานเมาแล้วขับ 20,000 ราย แต่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ในปี 2551 นี้ มีจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 15% ซึ่งก็เป็นภารกิจของ กรมคุมประพฤติที่จะทำการเฝ้าติดตามและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้มีผู้กระทำความผิดลดน้อยลง และมีพลเมืองดีในสังคมเพิ่มมากขึ้น” นายนัทธี กล่าว
ด้านนายประธาน ไตรจักรภพ ผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์สังคม บริษัท ดิอาจิโอฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประสานงานของสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์(สชอ.) หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ด้านแอลกอฮอล์ศึกษา และการดื่มอย่างรับผิดชอบ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีปัญหามากมายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างผิดวิธี ทั้งการดื่มเกินพอดี ดื่มแล้วขับ หรือการดื่มของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้มีความคิดที่จะจัดโครงการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม และโดยสิ่งที่ผมหวังคือ เมื่อมีการอบรมแล้ว ผู้เข้าอบรมจะนำไปประยุกต์ใช้ และนำความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างค่านิยมในการดื่มรับผิดชอบโดยผ่านกระบวนการการให้ความรู้อีกทางหนึ่ง”
สำหรับการเดินสายอบรมให้ความรู้ของกลุ่ม “อาสาทำความดี” ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนรวม 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎ พระนคร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 2,330 คน ได้รับผลตอบรับจากกลุ่มนักศึกษาเป็นอย่างดี
ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กลุ่ม “อาสาทำความดี” จำนวน 8 คนได้ไปให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม และถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเอง ซึ่ง ตัวแทนของกลุ่มอาสาทำความดี เล่าให้ฟังว่า “ได้เข้ามาอยู่ในชมรม รักกันเตือนกัน ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วครับ ผมว่าการดื่มเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ครับ เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนตัว เป็นพฤติกรรมและจิตสำนึกของแต่ละคน คือมันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วครับ คนดื่มก็จะดื่ม ไม่เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ ทางที่ทีดีคือยอมรับความจริงว่ามีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ดื่มเหล้า นั่นแหละเราจึงจะหาหนทางที่ถูกต้องไปช่วยแก้ปัญหาของพวกเขาได้ ซึ่งกิจกรรมที่เราทำนี้เป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อเตือนให้เพื่อนวัยเดียวกันทราบถึงอันตรายของการเมาแล้วขับ กิจกรรมที่ได้ทำคืออบรมเรื่องแอลกอฮอล์ศึกษา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อปฏิบัติของการถูกคุมประพฤติต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ พวกเราได้นำมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาได้รับทราบกัน เพื่อให้พวกเขาได้ตระหนักถึงพิษภัยของการเมาแล้วขับ ”
อาสาสมัครอีกคนของกลุ่มอาสาทำความดี กล่าวว่า “ก็ดื่มตอนไปสังสรรค์วันหยุด ที่บ้านไม่ห้าม เพราะดีกว่าไปติดยา ที่ผ่านมาตอนแรกไปดื่มแล้วขับ มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ถูกสั่งฟ้องศาล แล้วถูกคุมประพฤติครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยได้ยินข่าวว่าหากเมาแล้วขับจะถูกคุมประพฤติ เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นความเข้าใจผิดคิดว่าการดื่มเหล้าของเราไม่น่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพราะหากเมาต้องเดินโซเซ แต่เราไม่มีอาการ แต่พอเป่าเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์แล้วเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอได้เข้ามาทำกิจกรรม “คืนคนดีสู่สังคม” นี้ เป็นสิ่งที่ดีมากที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ เรียกได้ว่าความคิดเราเปลี่ยนไปอย่างมาก ถ้าวันไหนตั้งใจว่าจะดื่ม วันนั้นก็จะไม่ขับรถไป โดยใช้บริการรถแท็กซี่แทน ”
ส่วนใหญ่หลังจากที่ผู้ถูกคุมประพฤติมาเป็นอาสาสมัครแล้ว พฤติกรรมเรื่องการเที่ยว และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไป-กลับรถแท็กซี่ ไม่ได้ขับรถเอง นอกจากนี้หากไปเที่ยวก็จะกำหนดกันเองในกลุ่มเพื่อนว่าวันนี้ใครจะเป็นคนขับรถ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเมาแล้วขับอีกต่อไป
สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่เข้ามาร่วมฟังการอบรมครั้งนี้ เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดย น้องพีท-พัฐวิศ มิลินทสุวรรณ บอกว่า “ผมชอบสนุกครับ ผมว่าเด็กทุกคนชอบสนุกสนาน ติดเพื่อนฝูง และการดื่มก็เป็นเรื่องปกติครับ ห้ามไม่ได้หรอกครับ ปกติผมจะเที่ยวประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน ไปกับเพื่อนๆ แต่ว่าส่วนใหญ่จะไปนั่งตามร้านอาหาร แล้วก็มีกินเหล้า กินเบียร์ แต่ว่าไม่ได้เข้าผับ บาร์ เพราะว่าอายุยังไม่ถึง กินเหล้าแต่ละครั้ง ก็ไม่เยอะครับ แค่พอสนุกกับเพื่อนๆ เท่านั้น ไม่ได้กินเยอะจนเมามาย แต่เมื่อได้อบรมครั้งนี้แล้ว เป็นประโยชน์มาก ทำให้เรารู้เรื่องการดื่มเหล้าอย่างถูกวิธี ว่าดื่มเท่าไรถึงจะไม่โดนจับ ดื่มในปริมาณพอดีที่เหมาะสมครับ”
ส่วนน้องป๊อป-ธนสิน เพียรกุศล กล่าวว่า “ตัวผมเองไม่ค่อยได้ดื่มเหล้าสักเท่าไรครับ เพราะที่บ้านไม่ชอบ และต่อต้านการดื่มเหล้ามาก เพราะไม่มีคนไหนในครอบครัวดื่มเหล้าเลย พอผมดื่มก็จะโดนว่า โดนอบรม ผมดื่มเพราะผมรู้ว่าตัวเองดื่มได้แค่ไหน มาฟังเรื่องการดื่มเหล้าวันนี้ก็ทำให้มีความรู้มากขึ้น อย่างน้อยก็จะได้ดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวให้ดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ที่แน่ๆ คือ เมาไม่ขับ”
สำหรับผู้ดูแลโครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” นางสาวนิตยา โควสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครเหนือ กล่าวว่า “โครงการ “คืนคนดีสู่สังคม” มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการ “ถนนปลอดภัยจากเมาไม่ขับ” โดยนำผู้ที่ถูกจับในคดีเมาแล้วขับมาเข้าโปรแกรมอบรมให้ความรู้ เราเชื่อว่าการให้ความรู้จะทำให้คนเข้าใจ พร้อมกับทำงานให้กับสังคมควบคู่กันไป จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด ตลอดระยะเวลาการจัดโครงการมา 4 ปี มีนักศึกษาถูกคุมประพฤติ คิดเป็น 10-15% ซึ่งเรามองว่านักศึกษาที่ถูกคุมประพฤติเหล่านี้ สามารถถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดี โดยมุ่งหวังว่า คนรุ่นเดียวกัน พูดภาษาเดียวกันจะทำให้เข้าใจกันได้ดี ซึ่งสำนักงานคุมประพฤติหวังไว้ว่า จะไม่มีนักศึกษาถูกจับคุมประพฤติอีก โดยสถิติของคนเมาแล้วขับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เราจึงอยากให้ความรู้ถึงวิธีการดื่มที่ถูกต้อง
ซึ่งจากการประเมินผลทำให้ทราบว่า เราห้ามเขาดื่มไม่ได้ แต่เขาจะรู้ว่า หากเขาจะดื่มเขาจะไม่นำรถไป หรือหาคนขับรถให้ ทำให้เขาต้องวางแผนในการดื่ม โดยกลุ่มอื่นๆ ก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน ทำให้เราเชื่อว่าการให้ความรู้จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้”
นอกจากกลุ่มนักศึกษาที่ถูกคุมประพฤติแล้ว ยังมีผู้ถูกคุมประพฤติที่เป็นพนักงานบริษัทประมาณ
60-70% ข้าราชการ 5% ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ และรถแท็กซี่ ซึ่งยังมีไม่มากนัก
สำหรับแผนงานต่อไปของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครเหนือนั้น จะมีโครงการถนนปลอดภัยจากเมาไม่ขับ เพราะยังมีคดีความเมาแล้วขับต่อเดือนประมาณ 400-500 คดี ซึ่งการจัดโปรแกรมการอบรมที่ทำมา 4 ปี มีผู้พ้นการคุมประพฤติประมาณ 13,000 คน แต่ถูกจับในความผิดซ้ำในฐานความผิดเมาแล้วขับเข้ามาอีก 28 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ถึง 1 % ของสถิติที่พ้นการคุมประพฤติ ทำให้เชื่อว่าการใช้กระบวนการให้ความรู้ ความเข้าใจ เห็นผลได้จริง มาถูกทาง เพียงแต่การคัดนักศึกษาแยกออกมา เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในการแก้ไขฟื้นฟู และในการป้องกันเพื่อนำมาบอกเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ให้เข้าใจในการปฏิบัติตน
นี่ถือเป็นโครงการดีๆ ที่ทำให้ผู้ที่เคยประมาท “เมาแล้วขับ” ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ คือ ให้คิดก่อนดื่ม และ ดื่มอย่างรับผิดชอบทั้งชีวิตและทรัพย์ตัวเองรวมทั้งของผู้อื่น ให้พวกเขาเหล่านั้นได้เรียนรู้การให้อย่างแท้จริงที่เกิดจากเนื้อแท้ของจิตใจ ร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ของชีวิตให้คนรุ่นเดียวกันได้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับ
บัญญัติ 10 ประการ คิดก่อนดื่ม
1. หากทราบว่าต้องดื่มแล้วขับ ต้องจำกัดปริมาณการดื่มอย่างเข้มงวด ผู้ชายไทย ไม่เกิน 2.5 ดื่มมาตรฐาน ผู้หญิงไทย ไม่เกิน 1.5 ดื่มมาตรฐาน ใน 1 ชั่วโมงแรก แต่เพื่อให้มั่นใจว่าจะขับรถกลับบ้านโดยปลอดภัย อย่าดื่มเลยดีกว่า
2. อย่าเชิญชวนให้คนขับรถดื่มสุรา เพราะเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ทำลายทั้งตัวเขาและตัวเรา
3. ต้องระลึกเสมอว่า เราดื่มไปแล้วมากน้อยเท่าใด อย่าเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเติมสุราในแก้วของเรา
4. ดื่มไม่ขับ ไป-กลับ แท็กซี่ หรือเห็นว่าเพื่อนไม่อยู่ในสภาพที่จะขับรถได้ อย่ายอมให้คนเมาขับรถกลับบ้านเอง
5. หากไปดื่มฉลองกับเพื่อนๆ ควรกำหนดคนขับไว้ล่วงหน้า และคนขับต้องไม่ดื่มเลย
6. ต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับเครื่องดื่มบางประเภทที่เราไม่คุ้นเคย เพราะอาจจะมีแอลกอฮอล์มากกว่าที่คาดคิด
7. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง แต่ควรรับประทานอาหารรองท้องก่อนเสมอ
8. เลือกเครื่องดื่ม ผลไม้ ชา กาแฟ หรือที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ดื่มสลับบ้าง เพื่อลดปริมาณแอลกอฮอล์
9. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยา เพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
10. ขณะดื่มสุรา ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด รสจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำ และดื่มมากยิ่งขึ้น
ดื่มมาตรฐานคืออะไร
การกำหนดค่า 1 ดื่มมาตรฐาน = แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 กรัม
ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์ โปแลนด์ และฝรั่งเศส ในมาตรฐานเดียวกัน
1 ดื่มมาตรฐาน = เบียร์ 5% 250 มิลลิลิตร
= วิสกี้ 43% 30 มิลลิลิตร
= ไวน์ 12.5% 100 มิลลิลิตร
= ไวน์คลูเลอร์ 5% 250 มิลลิลิตร
ข้อเท็จจริงในทางการแพทย์ เมื่อแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเสี่ยงภัยต่ออุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ทั่วโลก จึงมีกฎหมายห้ามขับเมื่อดื่มคล้ายคลึงกัน ใครละเมิดจะต้องได้รับโทษรุนแรง หรือดื่มแล้วขับอาจพิการและตายได้
ผู้ชายไทย (น้ำหนัก 71.5 กิโลกรัม) หากดื่ม 2.5 ดื่มมาตรฐาน ภายใน 1 ชั่วโมง จะตรวจวัดลมหายใจได้ใกล้เคียงกับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงไทย (น้ำหนัก 50 กิโลกรัม) หากดื่ม 1.5 ดื่มมาตรฐาน ภายใน 1 ชั่วโมง จะตรวจวัดลมหายใจได้ใกล้เคียงกับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 02691 6302-4, 0 2274 4961-2
(รัชฎา บุลนิม, วีรยา หมื่นเหล็ก, อุมา พลอยบุตร์)