กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--โฟร์ฮันเดรท
'ห้องครัว' นับเป็นความมหัศจรรย์อีกหนึ่งเรื่องของบ้าน ที่สามารถบ่งบอกถึงตัวตนของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะองค์ประกอบทุกอย่างในครัว คือสิ่งที่บรรจุเรื่องราวทุกสิ่งอย่างไว้ ทั้งการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ ศิลปะ วิถีชีวิต จนกลายเป็นห้องครัวห้องหนึ่ง ที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชนิดที่ควรถูกยกเป็น 'มรดกวัฒนธรรม' สุดล้ำค่า ที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
ด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายอันแสนน่าสนใจนี้ ทำให้ "เฮเฟเล่" ได้โอกาสในการชวนนิสิต นักศึกษา มาประชันฝีมือออกแบบ สร้างสรรค์ห้องครัวหนึ่งเดียวในโลก ภายใต้แนวคิด "Cultural Heritage Design" กับโจทย์งานดีไซน์ที่ต้องถูกผสมผสานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับห้องครัวของเฮเฟเล่เอาไว้อย่างลงตัว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในครัวยุคใหม่ สะท้อนมรดกวัฒนธรรมสุดล้ำค่า พร้อมแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของวิถีชีวิต ออกมาเป็นงานดีไซน์เทรนด์ใหม่ของห้องครัว เติมเต็มความมหัศจรรย์ศูนย์กลางของบ้าน ให้มีมากกว่าคำว่าห้องทำกับข้าว
เวทีการประกวดไอเดียครัวครั้งนี้ ถูกใช้ชื่อว่า "Haefele Kitchen Design Award 2019" ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 110,000 บาท โดยมีทีมนิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดมากกว่า 60 ทีม โดยหลังจากผ่านการคัดเลือก, เสียงวิจารณ์ และคำตัดสิน จากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิในวงการออกแบบอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ได้ห้องครัวที่เป็นที่สุดของการประกวด ผลงานจากทีม 'เด็กอีสาน' นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานที่ชื่อว่า "เฮือนครัว บ้านเฮา" นำโดยน.ส. กัณฐษร ลนขุนทด และ น.ส.จานิจ สุพรรณวงศ์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้าทุนการศึกษาไป 60,000 บาท
"เฮือนครัว บ้านเฮา" เกิดจากการนำแนวคิด 'Cultural Heritage Design' ที่เป็นหัวข้อหลักในการประกวด มาผสมผสานกับแนวคิด 'Family Area Design' พร้อมวิเคราะห์และกลั่นกรอง เพื่อหาคำตอบของงานสถาปัตยกรรมอันเป็นจุดตัด ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสองแนวคิดนี้ได้ จนในที่สุด ทีมเด็กอีสาน จึงได้นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดมาเป็นคำตอบ ด้วยการใช้ 'สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน' มาสื่อให้เกิดการมองเห็นแนวคิดทั้งสองอย่างเป็นรูปธรรม
เฮือนครัว บ้านเฮา จึงกลายเป็นผลงานห้องครัว Cultural Heritage Design ที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเส้นสายที่สื่อถึงความถ้อยทีถ้อยอาศัย ความเป็นกันเอง ความเรียบง่าย รวมถึงความอบอุ่นในครอบครัว อันเป็นเอกลักษณ์วิถีชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคอนเซ็ปต์หลักจะเล่าถึงเรื่องราวของการออกแบบห้องครัว แล้วจึงถอดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมให้มีความ Sustainable และเพื่อให้เกิดความ Compact ตอบโจทย์กับพื้นที่อันจำกัด ห้องครัวนี้จึงมีความจำเป็นต้องมีการระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ และควรที่จะมีการใช้ลมและแสงจากธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทีมออกแบบจึงหยิบ element เฉพาะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานมาใช้อีกครั้ง ทั้งด้านการใช้ช่องลมเพื่อระบายอากาศและระบายกลิ่นจากภายในห้องครัวออกสู่ภายนอกบ้าน และการใช้ช่องแสงทั้งแนวราบและแนวดิ่ง เพื่อทำให้ห้องครัวมีแสงสำหรับการใช้งานในเวลาตอนกลางวัน รวมถึงการเพิ่มช่องแสงในแนวดิ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายแสงอย่างมาก แนวทางนี้นอกจากจะตอบโจทย์ด้านพื้นที่ได้แล้ว ยังช่วยลดทอนการสูญเสียพลังงานภายในห้องครัวอีกด้วย เพราะแสงในเวลากลางวันมีเพียงพอต่อการใช้งานครัว โดยไม่ต้องใช้งานพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม
ถัดมาที่หัวข้อการจัดวางพื้นที่ ทีมออกแบบได้จัดวางพื้นที่เป็นลักษณะตัว U เพื่อให้เกิดการใช้งานได้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งการใช้งานครัวหนักและครัวเบาได้ในเวลาเดียวกัน เสริมด้วยข้อดี ของการจัดวางพื้นที่ตัว U ที่ช่วยให้การมองเห็นจากภายในตัวบ้านเข้าสู่ห้องครัวในด้านกว้าง มีความโล่งโปร่งสบาย ไม่รู้สึกถึงความแออัดและคับแคบ นอกจากนี้ พื้นที่กิจกรรมในห้องครัว ยังถูกออกแบบโดยแฝงความเป็นอยู่ของชาวอีสานสอดแทรกเข้าไปด้วย จากการใช้ element และ pattern บางอย่างของสถาปัตยกรรมอีสาน อาทิ การถอด pattern จากตู้กับข้าวอีสาน มาใช้ในการออกแบบตู้เก็บเครื่องครัว รวมถึงการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นอีสานมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ตากวัตถุดิบแห้ง หรือพื้นที่ที่ปลูกพืชกิน ที่ถูกสร้างสรรค์แทรกในบริเวณอ่างล้างจานของห้องครัว
การประกวดของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่ต้องประยุกต์แนวคิด 'Cultural Heritage Design' มาอยู่ในกรอบของห้องครัวพื้นที่ที่จำกัด แต่ต้องมีทั้งความสวยงาม และตอบสนองการใช้งาน รวมถึงไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันได้ นับเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย ในการสื่อสารข้อจำกัดต่างๆ นี้ ออกมาเป็นห้องครัวที่สะท้อนมรดกวัฒนธรรม แต่ผลงาน "เฮือนครัว บ้านเฮา" ของทีม 'เด็กอีสาน' นับเป็นความมหัศจรรย์ที่ผสานทุกโจทย์อันซับซ้อน ออกเป็นคำตอบที่บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของชาวอีสาน บนภาพของครัวสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าครัว 'เฮือนครัว บ้านเฮา' ห้องนี้ คงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวตนใหม่ของ 'มรดกวัฒนธรรม' ห้องครัวไทย ได้อย่างแน่นอน