กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีผู้ประกอบการบางส่วน นำถุงผ้าสปันบอนด์ ที่ผลิตจากพลาสติกกลุ่มโพลีพร็อพไพลีน (polypropylene) มาจำหน่ายและแจกจ่ายให้ประชาชน ซึ่งถุงผ้าดังกล่าวเมื่อย่อยสลายแล้ว จะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็ก หากเข้าสู่ระบบนิเวศจะเป็นอันตรายว่า กทม. มุ่งมั่นเป็นองค์กรชั้นนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติกและโฟม โดยให้หน่วยงานของ กทม. เป็นพื้นที่ปลอดขยะพลาสติกและโฟมอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รณรงค์ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ตลาด ชุมชน และประชาชน ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้า ปิ่นโต ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น กทม.
ยังได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรม และภาคีเครือข่าย ดำเนินการตามโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อพัฒนาระบบการทิ้งขยะแยกประเภทภายในอาคาร และลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) และจะนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต อีกทั้งได้ร่วมกับ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ "วน" เพื่อลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน ถุง และฟิล์มพลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงน้ำแข็ง ฟิล์มหุ้มขวดน้ำ ถุงขนมปัง ถุงหูหิ้ว เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปผลิตเป็นถุงใช้ซ้ำ (ถุงวน) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ยังได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของพลาสติกและโฟมที่ส่งผลต่อมนุษย์ สัตว์ทะเล และสิ่งแวดล้อม ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ รวมถึงรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกและโฟม ควบคู่กับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ กทม. เช่น การจัดงานกาชาด และกิจกรรมถนนคนเดิน เพื่อรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย