องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชูมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมลดผลกระทบของภัยร้ายจากเชื้อ “แบคทีเรียดื้อยา”

ข่าวทั่วไป Wednesday January 8, 2020 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--PR PRO Asia สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ประเทศสวีเดน ซึ่งนำโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ในฐานะผู้จัดงานหลัก จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์และสมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance จากทั่วโลก ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤต "แบคทีเรียดื้อยา (AMR)" หรือที่เรียกว่า "ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug)" ที่กำลังทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อทุกชีวิตทั่วโลกอย่างเร่งด่วน โดยมีมติให้เน้นความสำคัญกับการจัดการเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มที่ขาดการดูแลใส่ใจในคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการปัญหาของการใช้ยาปฎิชีวนะในการรักษาโรคในสัตว์เกินขนาด ซึ่งนับเป็นกว่า 75% ของยาปฎิชีวนะที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน อนึ่งทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยข้อเรียกร้องในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่มีต่อยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นแนวโน้มเชื้อโรคดื้อยาที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนมากที่สุด โดยสมัชชาฯ มีข้อสรุปเพื่อ ร่วมลงนามในแผนการดำเนินการทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการวางมาตรการเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันยาปฎิชีวนะ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกอย่างเกินความจำเป็น โดยผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าหาก ไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2593 จะมียอดผู้เสียชีวิตจากภัยร้ายของแบคทีเรียดื้อยามากถึง 10 ล้านคนต่อปี เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างร้ายแรงที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้เป็นสมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เมื่อปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีสมาชิกฯ ประกอบด้วย บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม ฟาร์มเลี้ยงสุกร นักวิจัย องค์กรเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความสนใจในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา โดยจัดให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการยุติปัญหาการตัดตอนอวัยวะที่สร้างความเจ็บปวดให้กับลูกหมู ได้แก่ การตัดหาง การกรอฟัน และการทำหมันด้วยการตอน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะ เกินความจำเป็น ดังนั้นทางเครือข่าย 3Ts Alliance จึงมีข้อตกลงในการสร้างและพัฒนาช่องทางติดต่อสื่อสารขึ้น โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าภายในปีพ.ศ. 2563 ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารของโลกเกิดการตื่นตัว และให้คำมั่นในการลดขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดเหล่านี้ในลูกหมูทั่วโลก รวมถึงผู้ค้าปลีกเอง ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายฯ ทั้งนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้นำเสนอกรณีศึกษาของภาคธุรกิจในเรื่อง แบ่งปันความสำเร็จ: กรณีศึกษาภาคธุรกิจเพื่อการยกระดับสวัสดิภาพสุกรขุน* เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์ม โดยยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู เช่น การตัดหาง การกรอฟัน และการผ่าตัดทำหมัน พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการเลี้ยงภายในฟาร์ม ทั้งการเพิ่มพื้นที่เลี้ยงเพื่อให้สัตว์สามารถเคลื่อนไหวได้ ยุติกระบวนการที่สร้างความเจ็บปวดในสัตว์ รวมถึงให้โอกาสสัตว์ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และช่วยลดความต้องการในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ได้ผลอีกทางหนึ่งด้วย Jenny Lundstrom สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวีเดน กล่าวว่า "มาตรฐานในสวัสดิภาพของสัตว์ ที่มีค่าเฉลี่ยสูง แสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มที่ต่ำ ซึ่งสิ่งนี้จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากผู้ค้าปลีกตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศสวีเดนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์สามารถช่วยแก้ไขปัญหายาปฎิชีวนะดื้อยาได้จริง และสามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ในการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน" ศุภวัฒน์ สุปัญญารักษ์ ตัวแทนจาก ซีพีฟู้ดส์ ประเทศไทย (CP Foods) กล่าวเสริมว่า "เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก เราจึงมีหน้าที่ในการรักษามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในระดับสูง รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ และเรามีความภาคภูมิใจในการทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อจะยุติการเลี้ยงแม่หมูในระบบกรงขัง ตลอดจนมีการวางนโยบายเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ให้การสนับสนุนเครือข่าย 3Ts Alliance อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต เพื่อร่วมยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู ตามแนวทางที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โดย ซีพีฟู้ดส์ (CP Foods) ตั้งเป้าที่จะขยายการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อให้สุกรได้มีโอกาสแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงขั้นตอน ที่สร้างความเจ็บปวดต่างๆ ในอนาคต" *แบ่งปันความสำเร็จ: กรณีศึกษาภาคธุรกิจเพื่อการยกระดับสวัสดิภาพสุกรขุน https://d31j74p4lpxrfp.cloudfront.net/sites/default/files/int_files/sharing_success_-_gbc_pigs_raised_for_meat-final_moderate_size_pdf.pdf เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /
แท็ก แบคทีเรีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ