เกษตรกรอุ่นใจ ...ฟาร์มสุกรปันน้ำช่วยบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday January 8, 2020 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ซีพีเอฟ "สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้วมาก ไม่ค่อยมีฝน น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตลดลง 50% เกษตรกรบางรายที่พอมีทุน ก็เจาะบ่อบาดาลนำน้ำมาใช้ แต่รายที่ไม่มีทุนก็ต้องปล่อยไปตามสภาพ " เสียงสะท้อนจาก "คนึง สืบอินทร์" ผู้ใหญ่บ้านเขาเขียว หมู่ 9 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เล่าถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรแล้ว ภัยแล้ง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เนื่องจาก "น้ำ" เป็นหัวใจหลักของการผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบันเกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือจากฟาร์มสุกร ปันน้ำที่ใช้จากการเลี้ยงสุกรใน"โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชน" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานนำน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและได้มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรในชุมชน เริ่มต้นเมื่อปี 2547 ซึ่งสายธุรกิจสุกรของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน ) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำของชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ รวมทั้งโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร จังหวัดนครราชสีมาและสระบุรี นำน้ำที่ผ่านระบบการบำบัดและมีคุณภาพตามมาตรฐานแล้วแบ่งปันให้พี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกอยู่รอบโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานขอรับน้ำไปใช้ในแปลงเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะน้ำจากฟาร์มมีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน อำนาจ จงศุภวิศาลกิจ เกษตรกรในพื้นที่ ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เล่าว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยและไร่ข้าวโพดอยู่ติดฟาร์มอุดมสุขของซีพีเอฟ ผมและเกษตรกรรายอื่นๆ มากกว่า 10 คน ที่ อาศัยรอบฟาร์ม ได้ขอปันน้ำจากฟาร์มมาใช้ในการเพาะปลูก รดน้ำในไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด ซึ่งทางฟาร์มมีการจัดสรรรน้ำให้แก่เกษตรกรทุกรายอย่างทั่วถึง สลับกันคนละวัน โดยต่อท่อจากบ่อบำบัดน้ำของฟาร์มไปยังแปลงเกษตรโดยตรง และต่อท่อไปยังบ่อพักน้ำของเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำและค่าปุ๋ยได้เป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีค่าใช้จ่ายค่าน้ำเดือนละ 2-3 พันบาท และต้องซื้อปุ๋ยปีละ 2-3 ตัน ปัจจุบันใช้แค่ปีละ 1 ตันเท่านั้น หลังจากที่ได้ปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์มมาช่วย โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ซึ่งมาเร็วและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆมา พบว่าน้ำในบ่อบาดาลมีปริมาณลดลงจนเกือบแห้งบ่อ จึงต้องลดพื้นที่ปลูกอ้อยจากที่เคยปลูก 30 ไร่ เหลือเพียง 10 ไร่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการดูแล ฟาร์มสุกรปันน้ำมาให้เป็นการช่วยให้พืชที่เพาะปลูกไว้ไม่แห้งตาย สัมฤทธิ์ แตงหวาน วัย 56 ปี เกษตรกรในพื้นที่ ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ติดฟาร์มนพรัตน์ ฟาร์มสุกรขุนของซีพีเอฟ เล่าว่า ทำอาชีพเกษตรเป็นรายได้เลี้ยงชีพมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยปลูกฟัก มะเขือ พริก พืชสวนครัวและพืชเกษตรเกือบทุกชนิด ซึ่งรายได้หลักมาจากผลผลิตฟักที่ปลูกไว้ 10 ไร่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้ขอปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟมาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งช่วยได้ 60-70 % และตั้งแต่ขอรับความช่วยเหลือปันน้ำจากฟาร์มฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยยูเรียได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้ต้องลดพื้นที่เพาะปลูกฟักลงเหลือ 2 ไร่ เพราะกลัวว่าปริมาณน้ำไม่พอใช้สำหรับการเพาะปลูก และคาดว่าต้องขอรับความช่วยเหลือในการปันน้ำจากฟาร์มสุกรอย่างต่อเนื่อง มยุรี มาโง้ง เกษตรกรในพื้นที่บ้านปากร่วม ต.สะพานหิน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ได้รับปันน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1 ของซีพีเอฟเพื่อใช้ในสวนเกษตรแบบพอเพียง ซึ่งปลูกมันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส และพืชสวนครัว อาทิ ไผ่หวาน มะนาว ข่า ตะไคร้ ฯลฯ เล่าว่า ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟมามากกว่า 10 ปีแล้ว ช่วยประหยัดค่าน้ำและต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลงได้มาก และน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ยังมีธาตุอาหารที่ช่วยให้ผลผลิตเติบโตดี เก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาน้ำแล้งและขาดแคลนน้ำเร็วกว่าทุกปี ต้องอาศัยน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ วิกฤติสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังคุกคามเกษตรกรในหลายพื้นที่ ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากโครงการปันน้ำจากฟาร์มสุกรให้เกษตรกรแล้ว ฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟทั่วประเทศมีมาตรการประหยัดน้ำและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า โดยในปี 2563 บริษัทฯ กำหนดเป็นเป้าหมายขององค์กร ลดปริมาณดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตร้อยละ 25 เทียบกับปีฐาน 2558 และกำหนดเป็นเป้าหมายในระยะยาว ลดปริมาณดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ขณะเดียวกัน มีมาตรการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้หมุนเวียน โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น รดน้ำต้นไม้รอบสถานประกอบการ ทดแทนการดึงน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกมาใช้ .

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ