กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) ที่ 'BBB+' โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะออกภายใต้โครงการการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Global Medium-term Note Programme) ของบริษัท ปตท.สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTTEP Treasury Center Company Limited) ซึ่งเป็นบริษัทลูกและถือหุ้นทั้งหมดโดย ปตท.สผ.
อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตเป็นบวก สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.สผ. อยู่ที่ระดับ 'bbb' สะท้อนถึงปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับปานกลาง ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำแต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
โครงการ Global Medium-term Note Program และหุ้นกู้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯภายใต้โครงการ ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ ปตท.สผ. เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เกือบทั้งหมดจะนำไปใช้ชำระคืนหนี้เดิม
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับบริษัทแม่: ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท.อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) โดยสะท้อนถึงการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัท ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดให้แก่ ปตท. และรายได้มากกว่าร้อยละ 90 ของ ปตท.สผ. มาจาก ปตท. นอกจากนี้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของกลุ่ม ปตท. ในปี 2561
การดำเนินงานของ ปตท.สผ. ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯแม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ปตท. มีตัวแทนในคณะกรรมการของ ปตท.สผ. และเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงบางส่วนของบริษัทฯ นอกจากนี้ ปตท. ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ปตท.สผ. ในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่
ธุรกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการเข้าซื้อธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ Patex Holding B.V และ Murphy Oil ในประเทศมาเลเซีย และการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ ปตท.สผ. ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชในปี 2561 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves)ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปี 2560 การชนะการประมูลดังกล่าวยังช่วยให้ความเสี่ยงจากการสูญเสียการผลิตจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในปี 2561 หมดไป และยังเพิ่มความแข็งแกร่งของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทยอีกด้วย โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งบงกชและเอราวัณ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2561
ปตท.สผ. และผู้ร่วมโครงการได้ตัดสินใจที่จะลงทุนพัฒนา (Final Investment Decision) โครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas: LNG) ในประเทศโมซัมบิค เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วให้กับ ปตท.สผ. ประมาณ 140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยบริษัทฯมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วอยู่ที่ 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 5 ปีเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิต ฟิทช์คาดว่าการลงทุนของ ปตท.สผ. ซึ่งรวมถึงโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศโมซัมบิค และการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและปริมาณการผลิตในระยะยาวได้ ฟิทช์คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตของ ปตท.สผ. จะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ามาอยู่ที่ระดับ 7 ปี แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม 'BBB'
การลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ. จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4.8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รวมค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อธุรกิจที่ได้มีการประกาศไป การลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศแอลจีเรีย เวียดนาม และโมซัมบิค และการสำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการพิจารณาอันดับเครดิตนี้ ฟิทช์ยังมิได้พิจารณาการเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่ โดยฟิทช์จะมีการพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตอีกครั้งหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น
ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าฐานะทางการเงินของ ปตท.สผ. จะยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีการลงทุนที่สูง ฟิทช์มองว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯเพิ่มขึ้นจากสมมุติฐานราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ และส่งผลให้บริษัทฯมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีสมมุติฐานว่าจะไม่มีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ ดังนั้นฟิทช์คาดว่าบริษัทฯน่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2562 บริษัทฯมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ 0.1 เท่า และฟิทช์มองว่าฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยังทำให้บริษัทฯมีความสามารถในการลงทุนที่สูงได้โดยไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตโดยลำพัง: อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ.ที่ 'bbb' สะท้อนถึงการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ต่ำแต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมที่อยู่ในระดับต่ำ และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (ปี 2561 อยู่ที่ 15.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ) และบริษัทฯคาดว่าจะดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความ สามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ ปตท. เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ของ ปตท.สผ. ในด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์อยู่ในระดับสูง โดย ปตท.สผ. เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และการดำเนินงานของบริษัทฯมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ และสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจาก ปตท.สผ. มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่ม ปตท. รวมทั้ง ปตท.สผ. ยังขายผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ ปตท. ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานกับ ปตท. ที่อยู่ในระดับสูง
การจัดอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ในระดับเดียวกันกับบริษัทแม่ เป็นการจัดอันดับในลักษณะเดียวกับการจัดอันดับของ PetroChina Company Limited (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China National Petroleum Corporation (CNPC; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย PetroChina มีความสัมพันธ์กับ CNPC ที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์ด้านกลยุทธ์และการดำเนินงานของ ปตท.สผ. และ ปตท. อยู่ในระดับมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง PT Perusahaan Gas Negara Tbk (PGN; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัทแม่ PT Pertamina (Persero; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของ PGN ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่อยู่หนึ่งอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2562 และ 2563 (ปี 2561 อยู่ที่ 131 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ราคา 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562, 62.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563, 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564, 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปีถัดๆไป
- ราคาขายก๊าซธรรมชาติเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนอยู่ในช่วง 2-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2561 อยู่ที่ 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
- เงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ (ปี 2561 อยู่ที่ 55%)
ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท. โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ยังคงเหมือนเดิม
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท.
- ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สำหรับอันดับเครดิตของ ปตท. มีปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งแสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ดังนี้
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และภาครัฐฯ ยังคงเหมือนเดิม
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความอ่อนแอของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: ปตท.สผ. มีเงินสดอยู่ในระดับที่สูงจำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2562 ทำให้บริษัทฯมีสภาพคล่องสูง เงินสดของบริษัทฯลดลงจาก 1.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ. จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ และบริษัทฯไม่มีการเข้าซื้อกิจการในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะทำให้ ปตท.สผ. ยังคงมีสภาพคล่องที่ดี นอกจากนี้ ความสามารถของ ปตท.สผ. ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ยังช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯอีกด้วย
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)
หากมิได้กล่าวไว้ในส่วนอื่นของรายงาน ระดับสูงสุดของคะแนนที่เกี่ยวข้องกับ ESG อยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งไม่มีผลหรือมีผลน้อยมากต่อสถานะทางเครดิตของบริษัทฯ เนื่องจากเป็นลักษณะเฉพาะของปัจจัยดังกล่าว หรือปัจจัยดังกล่าวได้รับการบริหารจัดการโดยบริษัทฯ
หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคะแนนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้ที่ www.fitchratings.com/esg.