กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณี กทม.เตรียมทดลองเดินรถ Shuttle Bus เพื่อเป็นขนส่งระบบรอง (Feeder) ป้อนคนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก โดยมี ผู้ตั้งข้อสังเกตบางเส้นทางมีรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถโดยสารของเอกชน (รถสองแถว) วิ่งให้บริการอยู่แล้ว ทั้งยังมีระยะทางที่สั้นมากว่า สจส. ได้เตรียมความพร้อมเปิดทดลองเดินรถ Shuttle Bus ใน 3 เส้นทางแรก ได้แก่ 1) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) เขตตลิ่งชัน - สถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า 2) ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง - สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า 3) ชุมชนเคหะร่มเกล้า - สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ลาดกระบัง ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับภาคเอกชนกำหนดรายละเอียดการให้บริการเดินรถใน 3 เส้นทาง ทั้งแนวเส้นทาง จุดจอดรับ - ส่งผู้โดยสาร ความถี่ของรอบการเดินรถที่เหมาะสมในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร รวมถึงการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กทม. กับภาคเอกชนในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการกำหนดเส้นทางให้บริการเดินรถ Shuttle Bus กทม. คำนึงถึงเส้นทางเดินรถในปัจจุบันที่ประชาชนยังไม่สามารถเดินทางมายังระบบขนส่งมวลชนระบบรางได้สะดวก (Missing Link) ดังนั้น เส้นทางต่าง ๆที่กำหนดไว้จึงหลีกเลี่ยงการทับซ้อนกับเส้นทางการให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางหลักและรถสองแถว อีกทั้งจุดจอดรถ Shuttle Bus เป็นจุดจอดเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง แต่จะมีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะจากต้นทาง ได้แก่ ชุมชน สถานที่ราชการต่าง ๆ และปลายทาง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าขณะเดียวกันในช่วงเปิดทดลองให้บริการจะมีการเก็บข้อมูลปริมาณผู้โดยสารทั้งจากต้นทางและปลายทาง รวมถึงจัดทำแบบประเมินความพึงพอใจและข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินโครงการ ตลอดจนการขยายเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมการใช้บริการของประชาชนต่อไป