“M&A - Create The Power to Strengthen Your Business”

ข่าวทั่วไป Friday October 7, 2005 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เรียบเรียงจากงานสัมมนา
“M&A - Create The Power to Strengthen Your Business”
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนได้สร้างแรงกดดันให้ธุรกิจทุกประเภทต้องรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมด้วยการจัดเตรียมองค์กรให้เข้มแข็งในทุกๆ ด้านการควบรวมกิจการ (M&A: Merger and Acquisition) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกหลายแห่งนำมาใช้ เพื่อต่อสู้และช่วงชิงโอกาสในโลกของการแข่งขัน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการนำพาบริษัทก้าวไปสู่การเป็นบริษัทชั้นนำ
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการควบรวมกิจการในเศรษฐกิจยุคปัจจุบันว่า จากสถิติการควบรวมกิจการทั่วโลกเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 20,000 รายการ/ปี หรือมีมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกลุ่มธุรกิจหลัก ๆ ที่มีการควบรวมกัน คือ สถาบันการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจค้าปลีก
ในขณะที่สถิติการควบรวมกิจการในเขตเอเชียแปซิฟิกนั้น มีจำนวน 6,000 รายการต่อปี คิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 เท่า แต่มีมูลค่าเพียง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือไม่ถึง 1 ใน 10 ของมูลค่าการควบรวมที่มีทั้งหมดในโลก โดยกลุ่มธุรกิจหลักๆ ที่มีการควบรวมกันในแถบเอเชียแปซิฟิกคือ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์
“แนวโน้มการควบรวมยังคงมีทิศทางที่มากขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ทุกอย่างไม่มีขอบเขต โลกแบนและเล็กลง และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาที่รวดเร็ว”
นอกจากนั้น ดร.ก้องเกียรติยังระบุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องมีการควบรวมกิจการคือ การเปิดเสรีทางการค้า เกิดการประหยัดต่อขนาด การเพิ่มผลิตภัณฑ์และขยายตลาด การพัฒนาทรัพยากร การรวมศักยภาพทางการผลิต การจำกัดการแข่งขันในอุตสาหกรรม และการขยายธุรกิจใหม่หรือต่อยอดทางธุรกิจ
บริษัท นิวส์คอร์ป ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อครบวงจรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการควบรวมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2549 ที่ก่อตั้งขึ้น โดยเริ่มจากการเป็นเพียงหนังสือพิมพ์ขนาดกลางในระดับท้องถิ่นเท่านั้น นอกจากนั้นการควบรวมกันของธุรกิจการเงิน เจพีมอร์แกนกับธนาคารเชสแมนฮัตตันและแบงค์วันคอร์ป ที่สามารถประหยัดต้นทุนได้ทันทีกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญทั้งตลาดลูกค้าสถาบันและลูกค้ารายย่อยทันทีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของการควบรวมธุรกิจที่ต้องระวังคือ การวางเป้าหมายในการควบรวมให้ชัดเจน พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นรวมถึงการคำนึงถึงวัฒนธรรมขององค์กรที่จะสามารถร่วมหรือปรับเข้าหากันได้หรือไม่
“หากการควบรวมเป็นเพียงแฟชั่น โดยไม่เกิดประโยชน์แท้จริงแล้วย่อมจะประสบความสำเร็จได้ยาก ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องเก็บข้อมูลเป็นความลับ หากราคาหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดมีความผิดปกติหรือมีนัยสำคัญ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ควรปล่อยไปอีกระยะหนึ่งจึงค่อยมาคุยกันใหม่หากยังสนใจที่จะควบรวมกิจการจริงๆ”
ด้าน ม.ล. ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่าการควบรวมกิจการเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสีสันให้กับตลาด โดยกุญแจสำคัญที่จะทำให้การควบรวมกิจการประสบความสำเร็จคือ P/E ratio หรือ มูลค่าหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะดึงดูดให้บริษัทที่มีสภาพคล่องหรือเงินสดจำนวนมากสนใจเข้ามาซื้อกิจการหรือทำการควบรวมได้
“ความเสี่ยงที่ทำให้การเจรจาควบรวมกิจการกว่าครึ่งไม่ประสบความสำเร็จคือ การไม่สามารถตกลงกันในเรื่องของราคาหุ้นหรือมูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนถึงระดับความแตกต่างกันของวัฒนธรรมแต่ละองค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำต้องคำนึงถึงอย่างใกล้ชิด”
คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจว่า ธุรกิจในประเทศไทยหนีไม่พ้นการที่ต้องควบรวมเนื่องจากการเปิดการค้าเสรี ซึ่งการควบรวมให้ประสบความสำเร็จมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ ผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นและการวางแผนเรื่องภาษี
“ร้อยละ 49.5 ของการควบรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จนั้นมาจากการที่สามารถสร้างผลประโยชน์ที่ดีต่อผู้ถือหุ้นได้นั่นเอง รวมทั้งการพิจารณาอัตราภาษีที่ต้องจ่ายทั้งในแง่ของผู้ขายและผู้ซื้อ เนื่องจากภาษีเป็นต้นทุนที่สำคัญในการควบรวมกิจการ หากเป็นธุรกิจเฉพาะในประเทศไทยนั้นไม่ต้องเสียภาษี และประหยัดค่าโอนทรัพย์สินทรัพย์ด้วย”
นอกจากนั้น การควบรวมที่ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องพิจารณารูปแบบต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด อาทิ การตัดสินใจซื้อหุ้น หรือซื้อเฉพาะทรัพย์สิน หรือซื้อทั้งหุ้นและทรัพย์สินด้วย และปัจจัยสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงคือ ระยะเวลาในการควบรวมที่ควรจะรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ดำเนินการเจราจา หากใช้ระยะเวลานานจะเกิดข่าวลือที่มีผลเสียจนไม่สามารถประสบความสำเร็จในการควบรวมได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ธุรกิจของตนถูกควบรวมหรือถูกซื้อกิจการ ควรมีการติดตามความเคลื่อนไหวของปริมาณและราคาหุ้นในตลาดอย่างใกล้ชิด มีการทำสัญญาห้ามซื้อขายหุ้นกับคณะกรรมการบริษัท หรือทำการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการแบ่งเป็นบริษัทย่อย
ปัจจุบัน การควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด(มหาชน) ภายใต้การดูแลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่นั้นกำลังถูกจับตามองเนื่องจากเป็นการควบรวมของกิจการที่มีขนาดใหญ่
คุณพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) แสดงความมั่นใจต่อการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์การควบรวมภายในกลุ่มทั้งในแนวดิ่งและแนวนอนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นการควบรวมครั้งนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มอัตราการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งการควบรวมในช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะที่ดีเพราะทั้ง 2 บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีนั่นเอง
“สิ่งที่ยากที่สุดในการควบรวมกิจการคือ เรื่องของบุคลากร ที่ต้องคุยกันแบบไทยๆ จะใช้แบบฝรั่งที่ปลดคนออกทันทีไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมีการพูดคุยกับฝ่ายจัดการให้ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะในทุกๆ องค์กรย่อมมีทั้งคนเกินและขาดคนในสายงานเฉพาะด้าน ซึ่งเราต้องแก้ไขจุดนี้และจัดคนให้เหมาะสมให้ได้ และในอนาคตเรายังคงให้ความสนใจที่จะต่อยอดทางธุรกิจ เพราะทุกวันนี้เรายังไปไม่ถึง ผู้บริโภคขั้นปลายอย่างแท้จริง”
ด้านคุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบธุรกิจด้านการส่งออกปลาทูน่าและกุ้งด้วยมูลค่ายอดขายกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปีจากเดิมที่อยู่ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนหนึ่งมาจากการต่อยอดธุรกิจด้วยการเข้าไปซื้อบริษัท ชิคเก้นออฟเดอะซี ซึ่งมีฐานลูกค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐอเมริกา
“8 ปีที่เราทำการซื้อมา ถือว่าคุ้มค่าทั้งในแง่ของตัวเงินและในแง่ของการพัฒนาการบริหารจัดการของบริษัท และเราถือว่า การลงทุนในครั้งนั้นเป็นโอกาสและจังหวะที่ดี และกลยุทธ์ที่สำคัญคือ เราจะไม่มองภาพดีจนเกินไป และต้องทำอย่างไรให้ผิดน้อยที่สุด นอกจากนั้นเรายังยึดนโยบายการลงทุนในธุรกิจทีเกี่ยวโยงกันเท่านั้น”--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ