กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน FTA ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 161.79 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่การผลิตโคต้นน้ำจนถึงการตลาดเนื้อคุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
การอนุมัติเงินกองทุนครั้งนี้ สศก. เล็งเห็นถึงความสำคัญของเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย – ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และคาดว่า จะมีการนำเข้าโคมีชีวิต เนื้อโคแช่แข็ง และเครื่องในโคแช่แข็งจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์มากขึ้น อันเป็นผลมาจากที่ราคาถูกกว่าเนื้อโคในประเทศไทย และจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูง ประกอบกับราคาจำหน่ายโคเนื้อที่ไม่แน่นอน
การให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตโคเนื้อในประเทศไทยทั้งระบบ รวมถึงเป็นการสนับสนุนการบูรณาการให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศ สามารถร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อไทยตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโคไทย 2) กระตุ้นการเพิ่มประชากรโคเนื้อและเนื้อโค และ 3) การบริหารจัดการพืชอาหาร และอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อ
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการร่วมกับเครือข่ายโคเนื้อไทย ในการส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกหย่านม โคก่อนขุน และโคขุนที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด โดยร่วมมือภาคเอกชน คือบริษัทพรีเมียมบีฟ จำกัด ในการพัฒนาระบบการซื้อขายโคให้มีมาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรม มีตลาดรองรับที่แน่นอนและมีการประกันราคารับซื้อไม่ต่ำกว่าท้องตลาด นอกจากนี้ ยังมีการบริหารระบบโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการผลิตตลอดห่วงโซ่ สามารถผลิตโคขุนคุณภาพดีรองรับความต้องการของตลาด 250 ตัว/เดือน หรือ 3,000 ตัว/ปี มี Central Feedlot ที่ได้รับมาตรฐาน GAP FMD Free ซึ่งสามารถใช้เป็น ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ (Learning Center) สำหรับเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถทดแทนการนำเข้าสินค้าโคได้อย่างน้อย 150 ล้านบาท/ปี