มารู้จักกองทุน SSF กับเกณฑ์ใหม่ RMF กันเถอะ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 10, 2020 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--MFC Asset Management ในปี 2563 กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือ SSF เป็นทางเลือกในการลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี หลังจากการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ได้สิ้นสุดลงในปี 2562 นอกจากการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว เรายังสามารถให้เงินทำงานแทนเราผ่านการลงทุนในกองทุนรวมระยะยาว เช่น SSF ซึ่งกองทุน SSF มีเงื่อนไขการลงทุนที่ไม่เหมือนกองทุน LTF ที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ กองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันภัยสำหรับประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องรู้เป็นสิ่งแรกเพื่อที่จะได้คำนวณวงเงินที่จะลงทุนในกองทุน SSF ได้อย่างถูกต้อง และเมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี จึงจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน RMF ซึ่งเงื่อนไขหลักที่สำคัญ คือ จำนวนเงินสูงสุดที่สามารถลงทุนได้เพิ่มขึ้นที่ต้องคำนวณก่อนการลงทุนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างถูกต้อง เพราะหากเลือกลงทุนใน SSF เต็มที่แล้ว อาจจะทำให้ลงทุนใน RMF ได้ลดลง เมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นที่มี กองทุน SSF เหมาะกับบุคคลทั่วไปและมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งกองทุน SSF ไม่มีการจ่ายเงินปันผลโดยจะนำกำไรที่ได้จากสินทรัพย์ที่ลงทุนไปลงทุนต่อเพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ากองทุน SSF มีข้อด้อย คือ ระยะเวลาการลงทุนยาวนานขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุน LTF จาก 7 ปี เป็น 10 ปี แต่ข้อดีของกองทุน SSF คือ มีความยืดหยุ่นและสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนได้หลากหลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน หน่วยลงทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทองคำแท่ง เป็นต้น กองทุน SSF แตกต่างจากกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ เลือกกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง และเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับวัฎจักรเศรษฐกิจ การลงทุนในกองทุนเพื่อการประหยัดภาษีไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใด ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษีก่อนการลงทุน หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน เพราะมีรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย ได้รับสิทธิ์การลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง และเป็นการสร้างวินัยในการออมเงิน โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์ (บลจ เอ็มเอฟซี) คอลัมน์ Healthy Wealth (Posttoday.com) Link: https://www.facebook.com/mfcfunds/posts/3046842988661552

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ