กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สวทช.
สวทช. ชู ผลงาน สวทช. เครือข่ายภาคเหนือเป็นโมเดลในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ชุมชนในภูมิภาคที่เน้นถึงความต้องการของท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาล้านนายกระดับคุณภาพการผลิต พร้อมหนุนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์‘ด้วยงานวิจัยและพัฒนา’ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ‘ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง’
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการสัมมนาและปาฐถาพิเศษ เรื่อง “พ่อผู้นำทางวิทยาศาสตร์” ภายในงานประชุมประจำปี 2550 สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และนำประเทศไปสู่“สังคมฐานความรู้” ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “ กระทรวงวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ใกล้ชิดประชาชน” ทาง สวทช.ได้ประยุกต์แผนกลยุทธ์เชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาภูมิภาค กระตุ้นให้เกิดการสร้างปัญญาในสังคม โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือ การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ให้เกิดคุณค่าและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน รวมทั้งดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจ และสังคมฐานความรู้ของประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดความรู้อย่างทั่วถึงทั้งในชุมชนและครอบครัวให้สามารถพึ่งตนเองได้ เกิดความยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ เป็นแหล่งที่มีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีความสามารถ และองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทาง สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ เป็นหน่วยงานรัฐที่เข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงและประสานองค์ความรู้ที่มีอยู่เหล่านั้นให้เกิดเป็นฐานกำลังที่จะนำไปสู่สังคมฐานความรู้ได้อย่างทั่วถึงและเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ชุมชนกับภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป ”
รศ.ดร.ศักรินทร์ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ iTAP ทำให้เกิดการยกระดับความสามารถของเอสเอ็มอีไทยได้อย่างมาก และสามารถสร้างเครือข่ายการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีกับผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน iTAP มีเครือข่ายกระจายอยู่ 9 เครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่สำคัญ ยังทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่ามีประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการได้จริง
“ ในอนาคตมองว่าการดำเนินงานของ iTAP จะช่วยให้เกิดการต่อยอดของผู้ประกอบการจากการพัฒนาทางด้านทักษะไปสู่งานวิจัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการนำเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้การผลิตดีขึ้น มีการบริการที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถพัฒนาความรู้หรือนำเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทำให้ประเทศเข้มแข็งได้มากยิ่งขึ้น สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ iTAP ในปีนี้ จะมุ่งพัฒนา 6 คลัสเตอร์หลัก คือ สิ่งทอ ,อาหารและขนมไทย , ชิ้นส่วนยานยนต์ , ซอฟท์แวร์ , ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ” ผอ.สวทช. กล่าว
ศ.สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่าย ภาคเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานประชุมประจำปี สวทช.เครือข่ายภาคเหนือว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยมีหัวข้อ “ เปิดตา เปิดใจ ตามรอยเท้าพ่อ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเสนอบทบาทและผลงานของ สวทช. เครือข่ายภาคเหนือภายใต้ภาระกิจหลักของ สวทช. คือ การประสานงานด้านการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เน้นถึงความต้องการของท้องถิ่นภาคเหนือ ภายใต้ปรัชญา “รวมพลังในท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามความต้องการของท้องถิ่น”
สำหรับการจัดประชุมภายใต้หัวข้อ “ เปิดตา เปิดใจ ตามรอยเท้าพ่อ ” ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการเข้าถึงการพัฒนา โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 450 คน ทั้งจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจทั่วไป
นอกจากนี้ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนา เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีแก่ปราชญ์ท้องถิ่น ในฐานะผู้สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำองค์ความรู้ของคนในท้องถิ่นมาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์จนสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นภาคเหนือ โดยรางวัลผญาดีศรีล้านนา ประจำปี 2550 ได้แก่ นายสวัสดิ์ เดชพระคุณ จากสาขาด้านศิลปะ หัตถกรรมและวัฒนธรรม , นางสุพิน จันทวรรณ จากสาขาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และ นายศรีทน อริยา จากสาขาด้านเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี