“พลเอก ประวิตรฯ” ถก คณะกรรมการ กมช. นัดแรก เลือกผู้ทรงฯ หนุนรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ข่าวทั่วไป Monday January 13, 2020 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันนี้ 13 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ กมช. ในครั้งนี้ด้วย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ได้อนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมช. จำนวน 7 คน ดังนี้ 1.นายปริญญา หอมเอนก ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2. พลโท มโน นุชเกษม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3. พันตำรวจเอก ญาณพล ยั่งยืน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 4. นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ด้านกฎหมาย 5. นายวิเชฐ ตันติวนิชด้านการเงิน 6. นายบดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ด้านสาธารณสุข และ 7. รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินงานตามรูปแบบคณะกรรมการ กมช. ขับเคลื่อนงานในการวางแผนนโยบายที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. ไซเบอร์ ที่ประชุมรับทราบภาพรวมความคืบหน้าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของประเทศ และแผนการดำเนินงานในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และนโยบายและแผนระดับชาติ ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงาน นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ เปิดเผยว่า สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญวันนี้ ที่ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) และได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ของคณะกรรมการทั้งสองคณะดังกล่าว ด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า "นัดแรกครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นกลไกหนุนให้เกิดการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถปกป้องและรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้" ที่ประชุมครั้งนี้ ยังพิจารณามอบหมายให้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ThaiCERT ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตาม พรบ. ไปพลางก่อน ระหว่างการจัดตั้งสำนักงานยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ThaiCERT จะทำหน้าที่ตอบสนองและจัดการกับเหตุการณ์ โดยให้คำแนะนำและสนับสนุนในการแก้ไขภัยคุกคามไซเบอร์ให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศได้อย่างทันท่วงที พลเอก ประวิตร กล่าวย้ำว่า "การประชุมครั้งนี้เป็นการผลักดันความคืบหน้าในการขับเคลื่อนกลไกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศใน 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ 1.การกำหนดทิศทาง นโยบายและแผนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ระดับชาติ เพื่อให้เกิดการปกป้อง รับมือ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 2. ให้สำนักงานเร่งการดำเนินงานในภารกิจสำคัญตามที่ พ.ร.บ. กำหนด 3. แนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 4. การดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดผลดีต่อการเตรียมการประเมินอันดับและยกระดับความพร้อมของไทยด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในเวทีสากลต่อไป พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการฯ ร่วมกันกำกับติดตามและผลักดันการดำเนินงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยขอฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเลขาธิการช่วยกำกับการพัฒนาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของประเทศ ให้เป็นไปตามทิศทางที่คณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดไว้ต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ