กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลอดผ่านไปยังอวัยวะภายในของร่างกาย จะส่งผลให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย จะเกิดผื่นคันและลมพิษว่า ที่ผ่านมา สนอ. ได้ออกหน่วยเคลื่อนที่รณรงค์แนะนำการป้องกันปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง ให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้หากประชาชนมีปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุจากฝุ่นละอองสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 68 แห่ง ซึ่งได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัยไว้พร้อมสำหรับให้บริการประชาชน
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. ได้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รวมถึงสั่งการให้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลตากสิน ในวันจันทร์และวันอังคาร โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ในวันพุธ และโรงพยาบาลกลาง ในวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 13.00 - 15.30 น. เพื่อให้คำปรึกษาและนำไปสู่การรักษาพยาบาลอีกทั้งได้เปิดสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ โทร.1646 บริการตอบปัญหาและให้คำปรึกษาเรื่องโรคที่มีสาเหตุจากฝุ่นละออง ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากต้องการปรึกษาแพทย์จะประสานต่อไปยังศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อนัดพบแพทย์ ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก จัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ เพื่อให้ความรู้การป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ประชาชน
ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งคลินิกมลพิษทางอากาศออนไลน์ ผ่านเพจของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่ประชาชน
รวมถึงผลิตชุดความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 ในรูปแบบอินโฟกราฟิกและวิดีโอคลิป เผยแพร่ผ่าน Facebook : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร Facebook : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. และแอปพลิเคชัน BKK Connect เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ