กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.29 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.1 โดยเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมากที่สุด คิดเป็นจำนวน 1.02 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.26
นอกจากนี้อาชีพที่สามารถทำเงินในยุค 4.0 ขณะนี้เอง ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือโลกออนไลน์ทั้งสิ้น ตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกที่หมุนอย่างไม่มี ที่สิ้นสุด อีกทั้งยังเริ่มมีการใช้เครื่องจักรหรือ A.I เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์อีกด้วย
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักถึงปัญหาตลาดแรงงาน ในยุคปัจจุบันและที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตข้างหน้าอันใกล้ จึงมีการวางแผนปรับเปลี่ยน หลักสูตร ศศ.บ. ภาษาไทย เพื่อพัฒนาบัณฑิตรุ่นใหม่ "อย่างรอบด้าน" และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ของบัณฑิตที่จบออกมาที่มีความทันสมัยตอบรับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่
หลักสูตร ศศ.บ. ภาษาไทย ที่มีการปรับโฉมใหม่นั้น เริ่มมีการใช้จริงเมื่อปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมา โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตร ศศ.บ. ภาษาไทย แห่งเดียวในประเทศไทย ในขณะนี้ ที่มีการแบ่งการเรียน การสอนเป็น 2 สายวิชา เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ที่ตอบโจทย์สายอาชีพต่าง ๆ ในอนาคตให้มากที่สุด และเป็นการลดโอกาสการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ในอนาคต
สายการเรียนทั้ง 2 สาย แบ่งเป็น สายวิชาการ ที่จะเน้นความรู้ด้านหลักภาษาไทยและหลักภาษาศาสตร์ โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพในด้านของ นักวิชาการ ครูอาจารย์ ติวเตอร์ หรือ นักพิสูจน์อักษร และในส่วนของ สายวิชาชีพ ที่เน้นการการประยุกต์ใช้ภาษาไทยในวงการอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาชีพนักเขียน คอลัมนิสต์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าว และ Content Creator ที่เป็นอาชีพที่มาแรง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมให้ความรู้แก่นิสิตอย่างรอบด้าน และบัณฑิตที่จบออกมาจะต้องผ่านการฝึกงานทุกคน ถือว่าเป็นภาคบังคับของหลักสูตรใหม่นี้ที่สร้างประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริงให้แก่บัณฑิตเพื่อรับมือกับการประกอบอาชีพ ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
อีกทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตร ศศ.บ. ไทย ม.เกษตรฯ มุ่งสร้างและคาดหวังให้บัณฑิตทุกคนควรมี คือทักษะ "Soft Skill" ได้แก่ Communication การสื่อสาร , Creativity ความคิดสร้างสรรค์ , Critical Thinking การคิดอย่างมีเหตุผล และ Collaboration ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยทักษะ Soft Skill ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ A.I ยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์ทุกคนควรมีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตอันใกล้ที่กำลังมาถึง