กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมความพร้อมป้องกันภัย มีแผนเผชิญเหตุ สาธารณภัย มีกิจกรรมด้านการเตรียมพร้อมป้องกันภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถ ให้ชุมชนในการรับมือและจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติในชุมชนได้ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (CBDRM)
ดังนั้น เพื่อขยายผลการดำเนินงานให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความพร้อมด้านการป้องกันภัยอย่างต่อเนื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงจัดโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความสามารถเตรียมความพร้อมป้องกันภัย มีแผนเผชิญเหตุ สาธารณภัยภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน ตลอดจนให้ชุมชนมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในด้าน การเตรียมพร้อมป้องกันภัย และเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนในการเตรียมพร้อมป้องกันภัยเพื่อพัฒนาสู่ การพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยชุมชนอย่างยั่งยืน การดำเนินโครงการครั้งนี้ได้แบ่งขั้นตอน การดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ได้แก่ ระยะการสร้างชุมชนนำร่องประจำจังหวัด มีการจัดตั้ง ศูนย์เตรียมพร้อมป้องกันภัยประจำชุมชน จัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของชุมชน โดยจำลองสถานการณ์ในพื้นที่จริงและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนในการเตรียมพร้อมป้องกันภัยด้วยการส่งคนในชุมชนเข้ารับการอบรมเป็น มิสเตอร์เตือนภัย อปพร. และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล เป็นต้น ระยะที่ 2 ได้แก่ ระยะการขยายผลไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นในแต่ละจังหวัด โดยนำคณะกรรมการชุมชนศึกษาดูงานชุมชนนำร่องประจำจังหวัด และให้หน่วยงานภายนอกตรวจสอบความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้ จะทำให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความเข้มแข็ง สามารถเตรียมพร้อมป้องกันภัย ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชนพัฒนาเป็นองค์กรหลักในการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับชุมชนได้อย่างยั่งยืน