กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สสปน.
เสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการ พร้อมใช้เป็นฐานข้อมูล กำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) - สสปน. เปิดตัวบริการ TCEB E-service 3 บริการออนไลน์เพื่อธุรกิจไมซ์ E-survey E-message และ เว็บไซท์ พร้อมจัดเสวนา “E-marketing กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์” มุ่งหวังดึงภาครัฐและเอกชนมาใช้ประโยชน์ เสริมศักยภาพในการทำธุรกิจ และเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาฐานข้อมูลและการทำวิจัยเชิงลึก เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาตลาดไมซ์ของประเทศ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวในงานเปิดตัวบริการ TCEB E—service พร้อมจัดเสวนา “E-marketing กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์” ว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในโลกยุคดิจิตอลอย่างปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการทำการตลาดผ่านบริการออนไลน์ หรือ E-marketing
อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ การจัดประชุมสัมมนา การจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง นำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 50,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 20% ทุกปี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา องค์กรส่งเสริมตลาดไมซ์ชั้นนำทั่วโลก (CVB) ต่างให้ความสำคัญกับการใช้บริการออนไลน์เพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินงานด้านการตลาดไม่ว่าจะเป็นการค้นหา จองสถานที่ในการจัดประชุม การค้นหาข้อมูลการจัดแสดงสินค้า การสื่อสารเชิงธุรกิจ เช่น RFP online / E-newsletter / Web banner รวมทั้ง online registration / digital map และ online meeting planner นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยจาก Country Brand Index ระบุว่า สื่อเว็บไซท์เป็นช่องทางที่กลุ่มผู้เดินทางใช้เพื่อการค้นหาจุดหมายปลายทาง โดยคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 67 ในขณะที่ร้อยละ 12 จะค้นหาข้อมูลจากบริษัทตัวแทนท่องเที่ยว และร้อยละ 8 สอบถามข้อมูลจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน
สสปน. ได้พัฒนาระบบ TCEB E-service เพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาฐานข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ การทำตลาด และประชาสัมพันธ์ธุรกิจไมซ์ของไทยสู่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการแก่หน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดย TCEB E-service จะประกอบด้วยบริการหลักสามส่วน ส่วนที่หนึ่งได้แก่ บริการวิจัยการตลาด หรือ E-survey ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบ จะช่วยผู้ประกอบการที่มาใช้บริการในการออกแบบสอบถาม วิเคราะห์พฤติกรรม ความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าแต่ละงาน รวมทั้งมีการประเมินผลการวิจัย ซึ่งการทำวิจัยโดยตรงในลักษณะดังกล่าวนี้ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นอย่างมาก
ส่วนที่สอง บริการสื่อสารผ่านอีเมลล์ หรือ E-message เป็นระบบการเชิญลูกค้าออนไลน์ ซึ่งลูกค้าสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานอัตโนมัติ และระบบจะสามารถแสดงผลการตอบรับของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การเชิญลูกค้าไปร่วมงานของผู้ประกอบการในรูปแบบจดหมายเชิญอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่สาม บริการ Website ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจไมซ์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ศูนย์ประชุม โรงแรมที่พัก ระบบคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว รายชื่อบริษัทรับจัดงานประชุม งานแสดงสินค้า การท่องเที่ยว เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะงานที่จะจัดได้อย่างสะดวกง่ายดาย
“ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใด ทำการจัดเก็บข้อมูลธุรกิจไมซ์อย่างเป็นระบบพอที่จะใช้สนับสนุนการกำหนด แนวนโยบาย และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด เราจึงพัฒนาระบบ TCEB E-service ขึ้นมา โดยมุ่งหวังจะใช้เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านไมซ์ของประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไมซ์เข้ามาใช้บริการ และขอให้มั่นใจได้ว่าทุกข้อมูลความลับทางธุรกิจและฐานลูกค้า จะไม่ได้รับการเปิดเผยหากไม่ได้รับอนุญาต นอกจากบริการที่กล่าวมาแล้วนั้น ภายใน 6 เดือน หากเราได้รับข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วมประชุมสัมมนา และจัดแสดงสินค้ามากพอก็จะทำให้สามารถประมวลภาพรวมของธุรกิจไมซ์จากบริการนี้โดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนพัฒนาตลาดไมซ์ไทยในอนาคต” นายณัฐวุฒิกล่าวสรุป
ทั้งนี้ สสปน. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ประกอบการไมซ์ที่มาใช้บริการ E-survey เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลทางการค้าจะไม่รั่วไหล โดย บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นภาคเอกชนรายแรกที่ได้มีการลงนาม MOU เพื่อใช้บริการ E-survey
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี และ คุณอริสรา ธนูแผลง ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารการตลาด
โทรศัพท์ 0-2-694-6094-5
โทรสาร 0-2-658-1411
อีเมลล์ parichat_s@tceb.or.th หรือ arisara_t@tceb.or.th