กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กรมวิชาการเกษตร เพื่อเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตร ผสานความร่วมมือ 4 ผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าวโพดและข้าวฟ่าง" "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าว" และ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง" เน้นถ่ายทอดข้อมูลองค์ความรู้งานวิจัยด้านการเกษตร มุ่งพัฒนาขยายผลงานวิจัยปรับใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีราคาถูก และยังเป็นประโยชน์ในการช่วยยกระดับภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของไทย พร้อมสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าวโพดและข้าวฟ่าง" "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าว" และ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง" ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร โดยมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี และตัวแทนจากผู้ประกอบการภาคเอกชน 4 บริษัท เป็นผู้ลงนามในบันทึก คือ บริษัท คริสตอลลา จำกัด บริษัท อะโกรไบโอเมท จำกัด บริษัท ไบโอฟิล เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อินโนฟาร์ม ไบโอเทค จำกัด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักในการวิจัยพัฒนาด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งมีผลงานวิจัยมากมายที่เป็นองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชทางการเกษตร และได้มีการขับเคลื่อนผลงานวิจัยปรับใช้ประโยชน์สู่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นต้น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดผลงานวิจัยขยายผลสู่ภาคเอกชน คือ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าวโพดและข้าวฟ่าง" "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับข้าว" และ "สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง" เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการผลิตต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรม เกิดการพัฒนาผลิตพืชภาคการเกษตรที่ได้มาตรฐาน และกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรของไทยสู่มาตรฐานสากลต่อไป