กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาเกลือตกต่ำ จึงได้มีการเรียกเรียนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหา จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย ปี 2560-2564 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเกษตร อันจะเป็นการช่วยเหลือคุ้มครองอาชีพเกลือทะเลให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกลือทะเลไทย ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เน้นการทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตเกลือทะเลไทยทั้งระบบตลอดห่วงโซ่ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเกลือทะเลไทยทั้งระบบ
ดร.จูอะดี กล่าวว่า ทั้งนี้ในปี 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องเกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งเกษตรกรอาจจะต้องมีการปรับตัวเล็กน้อยเรื่องกระบวนการบริหารจัดการให้เข้าสู่ระบบ เพื่อควบคุมให้มีความปลอดภัย อาทิ การผลิต การบริหารจัดการพื้นที่ รวมทั้งการแบ่งกลุ่มเกษตรกรที่มีความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน
ดร.จูอะดี กล่าวว่า ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดโครงการฝึกอบรม เรื่องมาตรฐานและระบบการผลิตเกลือทะเล ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ หลักเกณฑ์และข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) ให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจากจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้เกลือคุณภาพตามมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และตรงความต้องการตามการใช้ประโยชน์และแปรรูป
"นับตั้งแต่ มกอช. จัดทำมาตรฐานต่างๆ ขึ้นมา มาตรฐานเกลือทะเลทำเสร็จเร็วที่สุด เพราะเกษตรกรเรียกร้อง และอยากให้เกิดโดยเร็ว ด้วยความร่วมมือที่สมัครใจของเกษตรกร รวมทั้งเราเห็นความสำคัญ ความเดือดร้อนของเกษตรกร จึงได้นำเข้าสู่การพิจารณาในระดับเร่งด่วน จนสามารถออกมาตรฐานเกลือเป็นที่เรียบร้อย และการจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง จากนั้นจะมีหน่วยงานมาตรวจรับรองมมาตรฐานต่อไป อย่างไรก็ดี เกลือทะเล ไม่ได้เป็นพืช สัตว์ หรือประมง มกอช. จึงได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และภาคเอกชน เพื่อบูรณาการเป็นผู้ตรวจประเมินเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP มากขึ้น" เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ดร.จูอะดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด อ.บ้านแหลม เพื่อให้คำแนะนำเรื่องมาตรฐานกับเกษตรกรทำนาเกลือ ซึ่งเกษตรกรเริ่มมองเห็นความสำคัญของการจัดทำมาตรฐานว่า ถ้าสามารถทำมาตรฐานเกลือทะเลขึ้นมาได้ สามารถช่วยยกระดับคุณภาพของเกลือทะเล และราคาสูงขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า เกลือที่เกษตรกรผลิต เป็นเกลือที่ปลอดภัย และมีคุณภาพ และที่สำคัญเกษตรกรผู้ผลิตเกลือจะต้องมองไปข้างหน้า เรื่องการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์เกลือ เพื่อสร้างความแตกต่างผลิตภัณฑ์ รวมถึงมองถึงความต้องการบริโภค หรือความนิยมการบริโภคเกลือของผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกเหนือจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่อไป