ธนาคารทิสโก้เตรียมจัดตั้งโฮลดิ้ง เพื่อความคล่องตัวทางธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 5, 2008 12:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ธนาคารทิสโก้
ธนาคารทิสโก้ แถลงกรณีตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อประสิทธิภาพในการกำกับกิจการแบบรวมกลุ่ม ระบุข้อดี 3 ประการ “ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ” ย้ำชัดเจนหลังตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง สำเร็จตามแผนจะมีโครงสร้างบริหารและฐานะการเงินเหมือนเดิมทุกประการ และผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหุ้น
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง โดยจัดตั้งบริษัทมหาชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นบริษัทแม่ของธนาคารทิสโก้ว่า เป็นการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นที่ได้เคยยื่นขอต่อกระทรวงการคลังเมื่อปี 2549 ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มาแต่ติดที่ข้อกฎหมายในขณะนั้นไม่เอื้อให้กระทรวงการคลังมีอำนาจลงนาม เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ส.ค. 51 ที่จะถึงนี้ ธนาคารทิสโก้จึงดำเนินการขอจัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงินภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มอีกครั้ง
“การขอจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ยังคงเป็นไปตามหลักการและเหตุผลสำคัญ 3 ประการเดิม คือ เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพื่อใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความยืดหยุ่นในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ” นายปลิว กล่าว
ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่มีบริษัทโฮลดิ้งเข้ามา ทำให้ธนาคารทิสโก้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทย่อยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคาร ทำให้ความเสี่ยงซ้ำซ้อนระหว่างธุรกิจหายไป ส่งผลให้ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจโดยรวมของกลุ่มลดลง และเมื่อความเสี่ยงลดลง ก็จะทำให้ความต้องการเงินกองทุนลดลง ประกอบกับความต้องการเงินกองทุนไม่ซ้ำซ้อน เพราะแต่ละบริษัทจะดำรงเงินกองทุนตามกฎของแต่ละหน่วยงานแยกจากกัน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารทิสโก้ จึงทำให้ใช้เงินกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงความสามารถในการรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลในระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทย่อยต่างๆ ยังจะมีความยืดหยุ่นในการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ เช่น การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและการร่วมธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต
สำหรับขั้นตอนการปรับโครงสร้างถือหุ้นจะเริ่มจากการจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นธนาคารทิสโก้ ร้อยละ 98.5 จากนั้นบริษัทโฮลดิ้งจะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้มีลักษณะโครงสร้างเดียวกับทุนจดทะเบียนปัจจุบันของธนาคารทิสโก้ และจะจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ทั้งหมดของธนาคารทิสโก้ เพื่อซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยมีอัตราส่วนในการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เท่ากับ 1 : 1 โดยราคาของการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์จะคำนวณจากราคาตลาดหุ้นของธนาคารทิสโก้ และมีระยะเวลาในการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เท่ากับ 25 วันทำการ
ทั้งนี้มีเงื่อนไขคือ บริษัทโฮลดิ้งอาจยกเลิกการทำ Tender Offer หากสัดส่วนของหลักทรัพย์ที่ได้มาต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่ออกแล้วทั้งหมด และผู้ถือหุ้นของธนาคารทิสโก้ สามารถยกเลิกการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ได้ภายใน 20 วันทำการแรก
จากนั้นบริษัทโฮลดิ้งจะเข้าซื้อเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัทย่อยจากธนาคารทิสโก้ ให้เท่ากับมูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 50 ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท หลังจากนั้นจะนำ บริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นของธนาคารทิสโก้ต่อไป
สำหรับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารทิสโก้นั้น นายปลิวกล่าวว่า ในกรณีที่บริษัทโฮลดิ้งสามารถซื้อหุ้นได้ครบร้อยละ 100 ของจำนวนหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารทิสโก้ ภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้น บริษัทโฮลดิ้งและบริษัทย่อยจะมีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานรวมเหมือนธนาคารทิสโก้ก่อนการปรับโครงสร้างทุกประการ ในด้านผู้ถือหุ้นของธนาคารทิสโก้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากผู้ถือหุ้นของธนาคารทิสโก้ทั้งหมดจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานรวมเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทโฮลดิ้งซื้อหลักทรัพย์ของธนาคารทิสโก้ได้น้อยกว่าร้อยละ 100 ของจำนวนหลักทรัพย์ทั้งหมด ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานรวมของบริษัทโฮลดิ้งและบริษัทย่อยจะรับรู้ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารทิสโก้น้อยลงตามสัดส่วน อย่างไรก็ตามเนื่องจากจำนวนหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัท โฮลดิ้งจะมีจำนวนลดลงในสัดส่วนเดียวกัน ขณะที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยอื่นที่ซื้อจากธนาคารทิสโก้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 100 เช่นเดิม ดังนั้นกำไรสุทธิต่อหุ้นของผู้ถือหุ้นบริษัทโฮลดิ้งจะเพิ่มขึ้น
สำหรับรายละเอียดของแนวทางการกำกับดูแลกิจการแบบรวมกลุ่มนั้น ภายหลังจากการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการและการบริหารงานของกลุ่มทิสโก้จะยังมีลักษณะเช่นเดิม โดยเปลี่ยนแปลงแต่เพียงให้มีคณะกรรมการหลักในการกำกับดูแลกิจการ อันได้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการ ควบคุมภายใน และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ มารวมศูนย์การบริหารงานอยู่ที่บริษัทโฮลดิ้งแทนโครงสร้างเดิมที่รวมศูนย์อยู่ที่ธนาคารทิสโก้ โดยคณะกรรมการหลักจะกำกับดูแลกิจการโดยรวมของบริษัทในกลุ่มทั้งหมดตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งรวมถึงแนวทางปฏิบัติในการกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สุภานี นรสุภา, กมลวรรณ มักการุณ
ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
โทร. 02 633 6904-6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ