กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สวทช.
เนคเทค จัดเวทีประชันไอเดียค้นหาเด็กไทย ไฮ-เทคโนโลยี ด้าน “ระบบสมองกลฝังตัว” “เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี” หวังสร้างคนรุ่นใหม่ ใน “ภาคอุตสาหกรรมการผลิต” ตอบโจทย์ “ภาคธุรกิจ บริการ” ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทางการเกษตร และระบบโลจิสติกส์ คาดลดการสูญเสียรายได้จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ ไฮ-เทคโนโลยี ปีละกว่า 100 ล้านบาท
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) และเทคโนโลยีระบุลักษณะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID: Radio Frequency Identification) เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสาขาต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ในด้านการเกษตร พลังงาน ยานยนต์ และการขนส่งโลจิสติกส์ โดยนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใส่ในสินค้าของตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณสมบัติ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้สามารถแข่งขันในประเทศ และตลาดโลกได้ พร้อมการตอบสนองต่อภาคธุรกิจ บริการ ทั้งในด้านช่วยลดต้นทุนรายจ่าย เพิ่มรายได้ และช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดบุคลากรโดยเฉพาะเยาวชนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว และเทคโนโลยี RFID ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ก็จะทำให้ประเทศไทยมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มั่นคง มีทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูงในด้านไฮ-เทคโนโลยี
“ด้วยเหตุนี้ เนคเทค จึงได้จัดกิจกรรมกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น โดยจัดโครงการ “แข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย” (Embedded System and RFID Innovation Camp and Contest 2008) ขึ้น เพื่อช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้าน ไฮ - เทคโนโลยี ทั้งระบบสมองกลฝังตัว และRFID ในตลาดแรงงานไทย และจะช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการนำเข้าไฮ-เทคโนโลยี ถึงปีละกว่า 100 ล้านบาท” ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
โครงการฯ นี้นอกจากกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาเกิดทักษะ ความรู้ด้านไฮ-เทคโนโลยี ทั้งระบบสมองกล ฝังตัวและRFID รวมถึงการเป็นมืออาชีพด้านการตลาดและการดีไซน์ แล้วอาจสร้างผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าสู่ตลาด และจุดประกายให้คนรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสช่องทางการเติบโตของวิชาชีพในตลาดแรงงาน รวมถึงนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การทำงานเป็นทีม ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาก่อนที่จะจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อก้าวสู่การทำงานในชีวิตจริงอย่างมั่นใจอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนี้เปิดรับเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศ 2. ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร และ 3. กระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผู้ที่สนใจสามารถสงข้อเสนอโครงการได้ถึงวันที่ 14 มีนาคมนี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับทุนสนับสนุนโครงการละ 50,000 บาท และทุนสนับสนุนการทำต้นแบบมูลค่าไม่เกิน 150,000 บาท จำนวน 12 ทุน (3 ประเภทๆ ละ 4 ทุน) สำหรับทีมชนะเลิศ แต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท พร้อมโล่เกียรติยศ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 02 564 6900 ต่อ 2422, 2548 โทรสาร 02 564 6769
อนึ่ง เทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว (ES: Embedded systems) คือ ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ฝังไว้ ในอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความฉลาด ความสามารถให้กับอุปกรณ์เหล่านั้น โดยใช้ software ที่ฝังไว้ภายใน ส่วนเทคโนโลยีระบุลักษณะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID: Radio Frequency Identification) คือวิธีการระบุวัตถุสิ่งของแบบไร้สาย ไร้สัมผัส จากระยะไกล ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ
ผู้ประสานงาน :
เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร.089-448-9582