กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สอวช.
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. นัดแรก ปี 63 โดยมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ มี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นกรรมการ และมี ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมเปิดตัวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 6 ท่าน ประกอบด้วย ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มรกต ไมยเออร์ รองศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ อรรถวานิช และรองศาสตราจารย์ ดร. พร้อมพิไล บัวสุวรรณ และโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 ท่าน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของ สอวช. ตาม พ.ร.บ.สภานโยบาย มาตรา 25 คือ 1. กำหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของ สอวช. 2. อนุมัติงบประมาณประจำปี งบการเงิน แผนการลงทุน และแผนการเงินของ สอวช. 3.
ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคอันเกิดจากการบริหารจัดการตลอดจนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสภานโยบายเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีมีปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการประสานงานในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และหน้าที่และอำนาจของ สอวช. 4. ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับงานบริหารของ สอวช. 5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการอำนวยการ สอวช. มอบหมาย 6. แต่งตั้งที่ปรึกษาของ กอวช. จากบุคคลในภาคเอกชน 7. ให้ความเห็นชอบรายงานประจำปีของ สอวช. ตามมาตรา 52 เพื่อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสภานโยบาย 8. กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสอวช. 9. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ. สภานโยบาย หรือตามที่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสภานโยบายมอบหมาย
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการอำนวยการ สอวช. ว่า บอร์ด สอวช. ถือว่าเป็นชุดที่ลงตัวมาก เพราะรวมองค์ความรู้และประสบการณ์ผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายด้านไว้ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม สตาร์ทอัพ กฎหมาย สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมถึงด้านศึกษาศาสตร์ ซึ่งความรู้ความสามารถเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิด Policy in Action ที่ไม่ใช่แค่เพียง Imagine Policy
"กระทรวง อว. ภายใต้โลกศตวรรษที่ 21 มีเรื่องของอนาคตมาเกี่ยวข้อง ต้นน้ำสำคัญที่จะนำประเทศสู่อนาคต คือ การออกแบบสร้างสรรค์นโยบาย ซึ่งมีโจทย์สำคัญที่อยากให้บอร์ด สอวช. ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น คือ System Base Research เพื่อทำให้เห็นองค์รวมของประเทศ เห็นภาพใหญ่ของประเทศ เพื่อหาจุดอ่อนและเดินให้ตรงเป้า อีกเรื่องสำคัญคือการนำเอาองค์ความรู้มาช่วยขยับ ปลดล็อก Sandbox เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำเรื่องกลไกการทำงานแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานต่างประเทศ มาเป็นแนวทางการทำงาน เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ" ดร. สุวิทย์ กล่าว
ดร. สุวิทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อีกภารกิจสำคัญคือ การกำหนดอนาคตประเทศ (Set the Future) ซึ่งกระทรวง อว. เริ่มมีการขับเคลื่อนและเริ่มลงตัวแล้ว คือ BCG แต่ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญ คือ National AI Strategy และ Earth-Space System ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเยอะหลายเวทีแต่ยังทำน้อย และเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญในอนาคตด้วย
ด้านผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แสดงความยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ พร้อมเสนอแนะให้มีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมือหลายภาคส่วน และเสนอให้การประชุมมีทั้งรูปแบบการหารือ การสัมมนาและการเวิร์คช็อป เพื่อไม่ให้เป็นแค่ความคิดเห็นจบแค่ในที่ประชุม แต่อยากจะให้เป็นการประชุมในลักษณะบูรณาการความรู้และนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศแท้จริง
สำหรับบรรยากาศในที่ประชุม ผู้อำนวยการ สอวช. ได้แนะนำสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ บทบาทหน้าที่ของ สอวช. โครงสร้างระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีกลไกการทำงานในเชิงการสนับสนุน และกำกับในเชิงคุณภาพ นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนที่ประชุมถึงความเชื่อมโยงของหน่วยงานในระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามกฎหมายการจัดตั้งกระทรวง อว. แนะนำหน่วยบริหารจัดการทุนของไทย นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570 กลไกการดำเนินงาน โครงสร้างองค์กร สอวช. ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน คือ กลุ่มเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคนในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกลุ่มบริหารและพัฒนาองค์กร ซึ่งบุคลากรใน สอวช. มีจำนวน 100 คน แต่ สอวช. ดึงศักยภาพให้เกิด Brainpower จากบุคลากร 100 คน ให้ได้เทียบเท่า 1,000 คน นอกจากนี้ รัฐมนตรียังเสนอให้การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. เป็นการประชุมที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ด้านเกี่ยวกับ Circular Economy โดยการให้ระเบียบวาระการประชุมทั้งหมดเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์เพื่อประหยัดทรัพยากรกระดาษอีกด้วย