กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันที่ 15 มกราคม 2563 ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จังหวัดชลบุรี นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรฝึก หลักสูตรการซ่อมบำรุงรักษาในงานอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ให้แก่บุคลากรด้านการฝึกของกพร. หวังขยายผล เทรนแรงงานรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังจากเป็นประธานการเปิดฝึกอบรมดังกล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่ออนาคต ได้นำระบบเทคโนโลยีแมคคาทรอนิกส์มาใช้ในสายการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กพร. เร่งขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปกำลังแรงงาน (Workforce transformation) ให้มีศักยภาพรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ผลิตกำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตและตลาดแรงงานทั่วประเทศ
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กพร. มีภารกิจหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ โดยจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกพร. การเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ จึงมีความสำคัญที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการฝึกต้องมีความรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่กำลังแรงงานในแต่ละพื้นที่ กพร. จึงจัดโครงการพัฒนาบุคลากรฝึก หลักสูตรการซ่อมบำรุงรักษาในงานอุตสาหกรรมแมคคาทรอนิกส์ ให้แก่บุคลากรฝึกขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะให้สามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ และประยุกต์ใช้ในงานระบบ แมคคาทรอนิกส์ได้ พร้อมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในสถานประกอบกิจการ ช่างฝีมือ นักศึกษา การฝึกอบรมจะประกอบด้วยการบรรยาย การสาธิต การฝึกภาคปฏิบัติภายใต้หัวข้อ ลักษณะทั่วไปของเครื่องจักรระบบแมคคาทรอนิกส์ วิธีการใช้ที่ถูกต้องและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต้นกำลัง อุปกรณ์ตรวจจับและอุปกรณ์ควบคุม ใช้ระยะเวลาการฝึกอบม 30 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 13-17 มกราคม 2562 คัดเลือกบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่และครูฝึกของกพร. เข้าฝึกอบรม 20 คน
"เมื่อผ่านการฝึกอบรมบุคลากรฝึกของกพร. จะเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายให้สามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ ในงานอุตสาหกรรมระบบแมคคาทรอนิกส์ได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวยังให้ความรู้ การใช้โปรแกรม CAD/CAM ขั้นสูง เพื่อผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องจักร เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ (Advance) และการใช้โปรแกรม CAD/CAM ขั้นสูงสำหรับงานกัด-กลึง (Mill-Turn Technology) จะมีส่วนในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ สามารถสร้างแรงงานฝีมือรองรับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0" อธิบดีกพร. กล่าว