กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิทยาศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อทุกสิ่งอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในเกือบทุกด้าน แต่โลกของเราจะไม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันการศึกษา มีเป้าหมายและวางปณิธานที่ต้องการผลิตบัณฑิต ที่มีความเป็นเลิศทั้งวิชาการและการวิจัยเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม
โดยครั้งนี้จะพาทุก ๆ คน ไปเจาะลึกทำความรู้จัก 10 สาขา รวมถึงหลักสูตรทั้งภาคปกติและภาคอินเตอร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ที่เปิดสอนอยู่ในปัจจุบันกันให้มากขึ้น ซึ่งน้อง ๆ ทุกคนที่เข้ามาเรียนที่นี่จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ อีกทั้งยังได้รับประสบการณ์ระหว่างเรียน เพราะว่าที่นี่เน้นหนักการเรียนรู้แบบActive และ Project based learning รวมทั้งการคิดแบบผู้ประกอบการ (SCI + BUSINESS) ที่ไม่ว่าจะเรียนจบในหลักสูตรหรือสาขาไหนก็มีงานรองรับแน่นอน
- ผสานวิทย์บริสุทธิ์–วิทย์ประยุกต์ก่อเกิดสิ่งใหม่
วิทยาศาสตร์สาย Pure หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ข้อเท็จจริง หลักการ กฎ ทฤษฎี ส่วน Applied science หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์นั้น เมื่อเรียนแล้วสามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง ศาสตร์ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งรอบตัวเรา และเป็นอาชีพที่มีความสำคัญของประเทศ
มาเริ่มต้นที่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ (Department of Mathematics and Statistics) เป็นหนึ่งสาขาที่เก่าแก่ที่สุด น้อง ๆ จะได้ศึกษาศาสตร์ทางคณิตศาสตร์และสถิติทั้งภาคทฤษฎีและภาคประยุกต์ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเฉพาะที่น่าสนใจ อย่างคณิตศาสตร์การจัดการ วิทยาการประกันภัย โดยทุกหลักสูตรของสาขาวิชามีทั้ง Pure Science และ Applied science และเน้นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาที่มีเหตุและผล นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสายงานต่าง ๆ อาทิ การวางแผนและพัฒนา โลจิสติกส์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจการเงิน
สาขาวิชาฟิสิกส์ (Department of Physics) น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางกายภาพต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งสามารถอธิบายหลักการทางทฤษฎีและทดลองปฏิบัติได้ เน้นเรียนทางด้านกลศาสตร์ ไฟฟ้า การคิดและวิเคราะห์ในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ได้เรียนรู้ฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักสูตรที่รวมองค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้ทางด้านอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ วงจรอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น วงจรดิจิตอล และการประยุกต์ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็กและควบคุมฮาร์ดแวร์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น การผลิตหุ่นยนต์ รถยนต์อัจฉริยะ สมาร์ทฟาร์ม รองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรม
พร้อมทั้งได้เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ จากการทำวิจัยกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีโอกาสจบการศึกษาภายใน 3 ปีครึ่ง และสามารถศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของสาขาวิชาฟิสิกส์ได้อย่างต่อเนื่องที่ มธ.
ต่อกันที่ สาขาวิชาเคมี (Department of Chemistry) น้อง ๆ จะรู้ซึ้งในศาสตร์ทางเคมีและเคมีประยุกต์ จะศึกษาและทำความเข้าใจถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และที่อยู่รอบตัวเราว่ามีลักษณะ ประกอบด้วยอะไร มีโครงสร้าง และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีคุณมีโทษอย่างไร ความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ดังนั้นเคมีเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายา วัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ และเป็นจักรกลสำคัญในศาสตร์ใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น น้องๆ สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นผลงานวิจัย ที่สามารถนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านการเรียนการสอนของอาจารย์ทรงคุณวุฒิ และยังได้รับความร่วมมือจากบุคลากร องค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยผลงานวิจัยของสาขานี้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติมากมาย
สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Department of Computer Science) เป็นสาขาเก่าแก่และได้รับความนิยมจากน้อง ๆ มีการเรียนการสอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีทันสมัย น้องๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายและความปลอดภัย ซึ่งสามารถเป็นพื้นฐานอย่างดีให้นำไปประยุกต์ต่อยอดในวิชาเลือกเฉพาะทางในศาสตร์คอมพิวเตอร์อื่นๆ เช่น การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing)วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการข้อมูล (Data Science) ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ที่ต้องการมุ่งสู่การศึกษาในระดับสูงขึ้น หรือประกอบอาชีพในองค์กรหรือธุรกิจได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทำวิจัยหรือโปรเจคร่วมกับสถาบันชั้นนำ ไปแลกเปลี่ยนระยะสั้นในสถาบันการศึกษา วิจัย และธุรกิจชั้นนำทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
- นักประยุกต์สรรค์สร้างนวัตกรรม
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล น้อง ๆ ที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มาดูว่ามีสาขาใดบ้าง เริ่มต้นที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร (Department of Agricultural Technology) มุ่งศึกษาเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งการผลิตพืชและสัตว์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมกับรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรให้เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งหากน้อง ๆ เรียนจบจะสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น อาจารย์ นักวิชาการเกษตร นักวิจัย และนักส่งเสริมการเกษตร
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Department of Food Science and Technology) น้อง ๆ จะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ไปพร้อมกับการเสริมประสบการณ์เรียนรู้ในหน่วยงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญถือเป็นอีก
หนึ่งสาขาที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากมาย ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดชั้นนำ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถนำผลงานเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดกับการทำงาน หรือธุรกิจของตนเองในอนาคตได้
สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (Department of Biotechnology) น้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนสาขานี้ ได้รับความรู้หลากหลายสาขาวิชาทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพพืช เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม และยังได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยกับอาจารย์ที่มีความชำนาญพิเศษในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือเฉพาะสำหรับงานวิจัยขั้นสูง งานวิจัยหลักของคณาจารย์ในภาควิชาฯ อาทิ การศึกษากระบวนการหมักและเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในอุตสาหกรรม การประยุกต์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และนักศึกษามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และร่วมทำงานกับนักวิจัยในสถาบันระดับชาติ เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพหลากหลาย อาทิ นักวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ อาจารย์ นักวิจัยและพัฒนา (R&D) ในหน่วยงานด้านการศึกษาและในภาคอุตสาหกรรม งานควบคุมกระบวนการผลิตและการตลาด
สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ (Department of Textile Science and Technology) เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติ สร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จำนวนมหาศาล แต่ปัจจุบันประเทศไทย ต้องเผชิญกับการค้าเสรีในระดับโลก ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นที่ต้องเร่งทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งทอคุณสมบัติใหม่ ๆ เช่น สิ่งทอเทคนิคและสิ่งทอสมบัติพิเศษ การพัฒนาด้านการออกแบบ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หากเรียนสายนี้รับรองว่ามีงานรองรับแน่นอน น้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนสาขานี้ จะได้ศึกษาเกี่ยวอุตสาหกรรมสิ่งทอ สิ่งทอเทคนิค เครื่องนุ่งห่ม การผลิต การออกแบบดีไซน์ และการใช้เทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยนักวิชาการ และผู้ประกอบการ
- วิทย์ประยุกต์สายรักษ์โลก-สังคม
เป็นที่รู้กันดีว่าตอนนี้โลกเผชิญกับปัญหามลพิษต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Department of Environmental Science)อีกหนึ่งสาขาที่โดดเด่นของคณะวิทย์ฯ มธ. ปัจจุบันมีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน การจัดการขยะ การจัดการสารพิษ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หากเรียนจบสามารถทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทุกด้าน บอกเลยว่ามีงานของทั้งภาครัฐและเอกชนรองรับแน่นอน เพราะปัจจุบันประเทศไทยขาดบุคลากรและนักวิเคราะห์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก
ตามด้วย สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน (Department of Sustainable Development Technology) สาขานี้มุ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนและงานศึกษาวิจัยทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาชุมชนและชนบทอันเป็นพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและชนบทอย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน หากเรียนจบสาขานี้สามารถทำงานการบริการวิชาการสู่สังคมในเรื่องระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การฝึกอบรมบุคลากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ ได้
- เก่งวิทย์ได้ภาษา ต้องหลักสูตรอินเตอร์
มาดูกันที่ภาคอินเตอร์บ้าง เริ่มต้นกันที่ หลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ (Innovative Digital Design International Program)หรือ IDD โดยหลักสูตรนี้เป็นการร่วมมือกันของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา น้อง ๆ ที่เรียนหลักสูตรนี้ สามารถนำทักษะที่ได้จากการเรียนไปทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบจำลองและเกม นักพัฒนาโปรแกรม ปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรควบคุมคุณภาพซอฟต์แวร์ เป็นต้น อีกทั้งสามารถเลือกเรียนได้ที่ มธ. ทั้ง 4 ปี หรือจะเลือกเรียนที่ มธ. 2 ปี และไปศึกษาต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน อีก 2 ปี ก็ได้ หากเลือกเรียนทั้ง 2 ที่ เรียนจบจะได้รับปริญญาจากทั้ง 2 สถาบันเลย
ต่อกันที่หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ (Bioenergy and Biochemical Refinery Technology Program) หรือที่เรียกกันว่าBEB หลักสูตรนี้น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการใน 3 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงยังมีโอกาสได้ฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการจริงเป็นเวลา 1 ปีการศึกษา เพื่อให้ได้ทักษะการแก้ปัญหากระบวนการผลิตในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทย
- นักวิทย์สายพันธุ์ใหม่ สู่ฟู้ดเทค
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า FIN อาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน และวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรม น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เพื่อก้าวสู่การเป็นนักนวัตกรรมอาหารที่มีความรู้ทางวิชาชีพ (Technical skills) ตามมาตรฐานสากล (The Institute of Food Technologists; IFT) และข้อกำหนดของสภาวิชาการอุตสาหกรรมเกษตร ผ่านการฝึกฝนความชำนาญในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ร่วมจัดการเรียนการสอน หากเรียนจบสาขานี้ สามารถประกอบอาชีพทั้งเจ้าหน้าที่วิจัย วิเคราะห์ตรวจสอบกำกับนโยบายทางด้านอาหาร ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจร้านอาหาร
ปิดท้ายกันด้วย หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (Data Science and Innovation Program) หนึ่งในหลักสูตรยอดฮิตของคณะวิทย์ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด โดยหลักสูตรนี้ น้องๆ จะได้เรียนรู้ข้อมูลประกอบ 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติความรู้พื้นฐาน คณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ 2. มิติวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งจะเน้นกระบวนการนำข้อมูลมาช่วยในการแก้ปัญหา 3. มิติธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรม สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ยังมีลักษณะproject-based learning คือ มุ่งเน้นให้นักศึกษานำองค์ความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาจริงจากภาคธุรกิจ โดยเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถที่จะเลือกเรียน ผ่านการเรียนแบบ Module-based ที่มีความสมบูรณ์ในตัว โดยใช้เวลาเรียน 4 เดือน สามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์หรือ MOOC ซึ่งเป็นช่องทางที่เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
เห็นไหมว่าเรียนการวิทยาศาสตร์ก็น่าสนใจไม่แพ้การเรียนสายอื่น ๆ นอกจากนี้ เมื่อน้อง ๆ ได้เข้าเรียนแล้ว จะได้พบกับวิชากลางของคณะอย่าง SC300 ที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดและความรู้ด้านธุรกิจ รวมถึงการเลือกเรียนวิชาโท ที่สามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์ได้ทั้งในและต่างคณะ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ มธ. ในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ที่หลากหลาย และปั้นเด็กวิทย์ลูกแม่โดมให้แตกต่างจากสถาบันอื่น
โดยน้อง ๆ คนไหนสนใจหรืออยากเรียน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat