กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--หอการค้าไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เพื่อหารือ ตลอดจน ผลักดันข้อเสนอภาคเอกชนในการขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมและยกระดับกิจกรรมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ
1. นำเสนอหลักการของร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่ภาคเอกชนผลักดันอยู่ขณะนี้ โดยเสนอให้มีองค์กรที่เป็นศูนย์กลางดูแลอากาศสะอาดแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในระยะเร่งด่วน ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้
2. เชิญชวนกระทรวงสาธารณสุข ให้ความร่วมมือและร่วมเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนงานมหกรรม Healthy Living Asia 2020 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและบริการด้านสุขภาพสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการแพทย์ และสาธารณสุขแบบครบวงจรของประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 6 ก.ย. 63 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
3. เสนอให้กระทรวงฯ พิจารณาให้การรับรอง "การแพทย์ธรรมชาติบำบัด" เป็นสาขาแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย โดยมีกฎหมายรองรับ เพื่อส่งเสริมการใช้วิธีรักษาแนวธรรมชาติ และ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Medical & Wellness Hub ของรัฐบาล
4. เสนอให้มีการกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของคนไทย โดยกระทรวงฯ เห็นชอบและมอบหมายให้กรมอนามัย เป็นผู้ประสานงานร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้ง ประสานงานร่วมกับกระทรวงการคลัง ต่อไป
5. ผลักดันให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการให้บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย การรักษาความลับและการควบคุมมาตรฐานเพื่อสามารถประกอบกิจการได้อย่างถูกต้อง โดยกระทรวงฯ ได้แจ้งว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งนี้ การจะให้โครงการที่เกิดผลในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เช่น ระบบการสื่อสารแบบ 5 จี ที่มีเสถียรภาพรองรับด้วย
6. เสนอให้มีการออกกฎ/ระเบียบ เพื่อให้การดำเนินกิจการน้ำพุร้อนของประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การเป็น Wellness hub ของประเทศไทย โดยปัจจุบัน กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงฯ รองรับต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับข้อเสนอต่าง ๆ ของภาคเอกชน เพื่อพิจารณาผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการส่งเสริมแนวทางการสร้างมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยภาครัฐจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน ตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อร่วมขับเคลื่อนบริบทประเทศไทย สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน