กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ไทยพีบีเอส
ไทยพีบีเอสเดินหน้าขับเคลื่อนเนื้อหากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ชูเป้าหมาย 6 ด้าน ย้ำพันธกิจสื่อสาธารณะ ให้สาระประโยชน์เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมวางแนวทางผลักดัน 3 วาระรณรงค์
12 ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการผลักดันประเด็นทางสังคมจนเกิดเป็นวาระที่สังคมให้ความใส่ใจ รวมถึงในบางประเด็นได้รับการผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 13 ไทยพีบีเอสจึงตอกย้ำจุดยืนในการที่จะมุ่งมั่นทำหน้าที่สื่อสาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน โดยเสริมความเข้มข้นด้วยจุดเน้น 6 ด้านประกอบไปด้วย
ด้านที่หนึ่ง ข่าวเจาะลึก ถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรม ไทยพีบีเอสยังคงยืนหยัดบนการทำข่าวที่ปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยก พยายามที่จะสร้างความเข้าใจในความเห็นที่หลากหลาย และจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของประชาชน ควบคู่ไปกับการเสนอข่าวแบบร่วมหาทางออกให้กับสังคม โดยในปี 2563 นี้ ผู้ชมจะได้ติดตามเหตุการณ์ใหญ่ๆ ระดับโลกและภูมิภาคที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ผ่านรายการข่าวทุกช่องทางของไทยพีบีเอส อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไทยพีบีเอสจะวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ทุกแง่ทุกมุม เพื่อสร้างความเข้าใจ และความเกี่ยวข้องกับคนไทย รวมถึงนโยบายด้านต่างประเทศ มหกรรมกีฬาโอลิมปิค Tokyo 2020 ผู้ชมจะได้พบการรายงานที่ไม่ใช่แค่เพียงผลการแข่งขัน แต่จะมีรายการวาไรตี้ "กีฬาล่าฝัน One Dream" เจาะถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดพัฒนานักกีฬาของเจ้าภาพญี่ปุ่น ไปจนถึงความสำเร็จด้านกีฬา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของไทย และ การติดตามอิทธิพลของจีน ในมิติด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไทยพีบีเอสจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบและเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนกำหนดอนาคตการพัฒนา EEC ให้สอดคล้องไปกับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศและนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนความจริงของทั้งภูมิภาค
ด้านที่สอง รายการสร้างสรรค์ ไทยพีบีเอสวางเป้าหมายไว้ที่การสร้างพลเมืองที่มีทักษะแห่งอนาคต บนฐานรากของความรู้ และการหยั่งลึกในคุณค่าวัฒนธรรม ละคร "ปลายจวัก" ที่ออกอากาศไปแล้ว ถือเป็นรูปแบบใหม่ของละครไทยที่นำเอาการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมอาหารไทยอย่างลึกซึ้งมาผสมผสานเข้าไว้อย่างกลมกล่อม และในไตรมาสที่สองของปีนี้ ไทยพีบีเอสจะนำเสนอละครเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสองประเทศ "จากเจ้าพระยา สู่อิรวดี" ที่จะทำให้มุมมองของคนไทยต่อประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อโยธยา-หงสาวดีชัดเจนขึ้น และเป็นละครที่ผู้ชมจะได้รับสุนทรียะจากนาฏศิลป์ชั้นสูงของสองประเทศอีกด้วย
ในกลุ่มสารคดี ไทยพีบีเอสจะนำเสนอสารคดีชั้นเยี่ยมตลอดทั้งปี อาทิ สารคดีสะท้อนวัฒนธรรม ชุด "คนชายขอบ" ที่ว่าด้วยการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่มีการปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สารคดีชุด "วิถีอาเซียน" ที่ครอบคลุมทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถีความเชื่อ ภาพยนตร์ สารคดีสะท้อนสังคมชุด "วงแหวนใต้สำนึก" ที่เล่าสภาพเป็นจริงของผู้ที่มีอาการจิตเภท เสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคม และสารคดีที่มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ที่เหมาะกับช่องทาง Online และ Streaming เน้นทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการลงมือทำ
นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมุ่งผลิตสารคดี และ รายการเด็ก ที่เป็นความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2563 นี้ผู้ชมจะได้พบกับ รายการ Co-Production กับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ PTS จากไต้หวัน เป็นการเดินทางไปสำรวจวิถีชีวิตชุมชนที่คล้ายคลึงกันระหว่างไทยกับไต้หวัน มีแผนที่จะเผยแพร่ในไตรมาสที่สอง สารคดีชุด The Sixth Mass Extinction หรือการสูญพันธุ์ครั้งที่หกของสัตว์ตามธรรมชาติ ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ EBS จากเกาหลีใต้ จำนวน 5 ตอน มีกำหนดเผยแพร่ช่วงไตรมาสที่สี่ รวมทั้งความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในประเทศ เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำและเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหาถูกต้องด้านสุขภาพ มีการร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ผลิตรายการสนับสนุนคนรุ่นใหม่สู่การเป็น Start Up และ ร่วมกับ อพวช. หรือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในการผลิตรายการ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ที่ได้รับรางวัลเป็นประจำเกือบทุกปี ความคาดหวังของไทยพีบีเอสคือการมอบผลงานฝีมือคนไทยที่ดีที่สุดให้กับสังคม
สำหรับการเข้าถึงเนื้อหาของผู้พิการ จำนวนชั่วโมงออกอากาศของรายการที่มีเสียงบรรยายภาพ (AD) คำบรรยายเสียง (CC) และภาษามือมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลซึ่งมากกว่ามาตรฐานของ กสทช.กำหนด โดยในปี 2563 นี้ ไทยพีบีเอสมีเป้าหมายจะให้บริการเพิ่มเป็น 20% หรือมากกว่า 4 ชม./วัน รวมถึง platform ใหม่ คือ Big Sign
ด้านที่สาม พัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มช่องทางที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ปีนี้ไทยพีบีเอสมีแผนขยายการให้บริการหลากหลาย เช่น ทดลองผลิตงานออกอากาศในระบบ 4K รับชม VIPA ได้ทาง Smart TV ผลิตงาน innovation เช่น 360/VR และ Data Visualization มากขึ้น บุก Podcast เต็มที่ และทำงานกับพันธมิตรด้าน Platform รวมทั้ง เครือข่ายวิทยุท้องถิ่น มากขึ้น และที่สำคัญ คือ ปรับปรุงอุปกรณ์โครงข่ายให้รองรับการเปลี่ยนคลื่นความถี่ 700 MHz ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
ด้านที่สี่ สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นโรงเรียนของสังคม ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้ขยายต่อยอดผู้ใช้ประโยชน์ จากสื่อรายการไปสู่เด็กนักเรียนและครูจำนวนหลายหมื่นคน ในปีนี้ ไทยพีบีเอสจะทำต่อเนื่อง และเน้นไปที่การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเตรียมทักษะแห่งอนาคตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ในชุมชน
ด้านที่ห้า การบริหารงานองค์กร ให้มีประสิทธิภาพบนฐานธรรมาภิบาล ด้วยแนวคิด คุ้มค่า ถูกต้อง คล่องตัว และตั้งเป้าผลประเมินองค์กรคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ให้ขึ้นถึงระดับ 90 คะแนน เร่งพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานให้เป็น Digital and Data driven มากขึ้น และเมื่อต้นปีนี้ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ให้มีหน่วยงานพิเศษด้านการผลิตสื่อที่เป็นจุดแข็งของไทยพีบีเอส
ด้านที่หก ยกระดับพื้นที่สื่อพลเมืองและเสริมพลังความร่วมมือ ไทยพีบีเอสเริ่มผลิตเนื้อหารายการที่แยกกันระหว่าง Online-On Air แยกระหว่างจอ Vertical (แนวตั้ง) กับ แนวนอน และยังสามารถแยกการรับชมพร้อมกันทาง Online ของพื้นที่เหนือ อีสาน ใต้ ใช้เทคโนโลยีที่สร้างการ Disrupt เหล่านี้ มาสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคพลเมือง นอกเหนือจากการมีบริการ C-Site application แล้ว ในปีนี้ จะมีโครงการฟังเสียงประเทศไทย ที่ออกไปทำเวทีรับฟังแบบ Live ในหมู่บ้าน และเชื่อมประเด็นข้อเสนอเหล่านั้นมาสื่อสารตรงกับผู้กำหนดนโยบายด้วย
นอกจากเป้าหมาย 6 ด้าน ในปีนี้ไทยพีบีเอสยังขับเคลื่อนเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่าน 3 วาระรณรงค์ เป้าหมายที่คาดหวัง คือ การเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรม โดยใน 3 วาระนี้ ประกอบไปด้วย การจัดการขยะ ภายใต้แคมเปญ โลกนี้ไม่มีขยะ #ใช้น้อยใช้ซ้ำทำใหม่ ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การเสนอทางออกในส่วนปากท้องประชาชน พอเพียง พอใช้ ไร้หนี้ ผลิตรายการที่ส่งเสริมให้ประชาชนลดหนี้สินบุคคลและครัวเรือน พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ รัชกาลที่ 9 มาเป็นทักษะหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ วาระการกระจายอำนาจ ที่คาดหวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไทยพีบีเอสจะทำหน้าที่เป็นเสมือน 'จุดคานงัด' เพื่อร่วมกันผลักดันประเด็นเหล่านี้กับทุกภาคส่วน และจะเป็นพื้นที่กลางเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและลดช่องว่างระหว่างนโยบายกับประชาชน