ม.มหิดล ได้อันดับ 1 ของประเทศไทย จากผลงานด้านนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด จากการจัดอันดับโลกของ Scimago ประเทศสเปน

ข่าวทั่วไป Friday January 17, 2020 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล การพัฒนานวัตกรรมของชาติ เป็นเป้าหมายหลักของการบริหารประเทศของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จากแนวคิดดังกล่าวผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็นกระทรวงการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ของประเทศ กระทรวง อว. ภายใต้การนำของ รมต.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้มีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ มหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้แห่งอนาคตที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก กลุ่มที่สอง คือ มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรม และนวัตกรรมของประเทศ และกลุ่มที่สาม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ ชุมชนฐานราก โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจัดอยู่ในกลุ่มแรก และเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยเป้าหมายที่ อว. คาดว่าจะมีศักยภาพในการยกระดับขึ้นมาติด 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยโลก ภายใน 4 ปีข้างหน้า จากผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นที่ผ่านมา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยที่มีผลงานด้านนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด จากการจัดอันดับของ Scimago Institutions Rankings เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหน้าที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยเรามีหน้าที่ในการผลิตบุคลากรที่จะไปทำงานให้กับสังคมในอนาคต ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีทักษะ และความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ โดยองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าและผาสุกแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการสร้างรายได้และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมและประเทศไทยได้อีกด้วย Scimago เป็นองค์กรระดับโลกของประเทศสเปน ที่จัดอันดับสถาบันโดยเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงภายในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีเกณฑ์การตัดสินใน 3 หัวข้อ คือ งานวิจัย ร้อยละ 50 งานนวัตกรรม ร้อยละ 30 และผลกระทบต่อสังคม อีกร้อยละ 20 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำคะแนนเป็นอันดับที่ 522 ของโลก และอันดับ 1 ของประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทางด้านนวัตกรรม เรามีสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนนักวิจัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการขอทุนวิจัย ไปจนถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการวางแผนทางการตลาด และการนำผลงานวิจัยนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะและเชิงพาณิชย์ ซึ่งการที่เราสามารถเข้าสู่ระดับโลกได้นั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงว่าเราทำงานวิจัย แต่งานวิจัยนั้นจะต้องเป็นนวัตกรรมต้นแบบให้กับสังคม สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ผลักดันประเทศไทยให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยืนยันถึงการเป็นผู้สนับสนุนดีเด่นด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ล่าสุด มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขา Innovation and Entrepreneurship Support of the Year จัดโดย ACEEU ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ส่งเสริมการสร้างงานนวัตกรรม และสนับสนุนผู้ประกอบการจากมหาวิทยาลัย โดยมีมหาวิทยาลัยส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 300 เรื่องจากกว่า 20 ประเทศ ซึ่ง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) เป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัย ในรอบสุดท้ายสำหรับเข้าชิงรางวัลดังกล่าว ในงาน "Triple E Awards Asia-Pacific 2020" ณ เมืองโกจิ ประเทศอินเดีย "นี่คือสิ่งที่ประชาชนชาวไทยมั่นใจได้ว่า รากฐานของมหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงาน และประสบการณ์สูงที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย รวมถึงมีคู่ความร่วมมือจากหลายประเทศทั่วโลก ที่จะร่วมสร้างผลงานที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย และระดับโลก ดังพระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า "ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ แต่อยู่ที่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ