กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สถาบันอาหาร
ผู้อำนวยการสถาบันอาหารคนใหม่ นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ เผยทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันอาหารในปี 2563 เร่งสานต่อมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะ 10 ปี สู่ภาคปฏิบัติ มุ่งยกระดับกลุ่ม SME และ OTOP ผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและของเหลือ หนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารอนาคต(Future Food) เตรียมร่วมมือกับหลายภาคส่วนศึกษาวิจัยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง ขยายขอบเขตการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ไปในวงกว้าง พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารสู่ Smart Factory โดยเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศ เดินหน้าให้บริการการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อทดลองตลาดแบบครบวงจรด้วย Food Industrial Transformation Center 2 แห่งทั้งในกรุงเทพ และสงขลา สู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน ชี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 11 ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 2.51 ดีขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12 และเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยแนวทางการดำเนินงานภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า สถาบันอาหารเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะ 10 ปี สู่ภาคปฏิบัติ เป็นนโยบายหลักรับช่วงต่อจากมาตรการครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งในปีนี้(2563) จะมุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการอาหาร 2 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการระดับ SME ที่มีอยู่เกือบ 1 หมื่นราย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และในส่วนของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนหรือ OTOP ที่มีอยู่กว่า 1 แสนราย ซึ่งเป็นพลังหลักในการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง(Inclusive Growth Engines)
ทิศทางการทำงานในปี 2563 จึงมุ่งเน้นกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความพร้อมในการลงทุนของผู้ประกอบการ เน้นนวัตกรรมที่ทำได้ทันที ด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในกลุ่มอาหารอนาคต(Future Food) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ อาหารวีแกน อาหารนักกีฬา อาหารผู้สูงอายุ อาหารเด็ก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและของเหลือ เช่น การผลิตไซรัปจากข้าว รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่ช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอน เพื่อตอบโจทย์ลดการใช้แรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น
นางอนงค์ กล่าวต่อว่า ที่เป็นเรื่องใหม่ของปีนี้คือการทุ่มเทบุคลากรให้กับการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง ซึ่งสถาบันอาหารมีความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งด้านงานวิจัย กฎหมาย การค้า การพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณสาร CBD ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชง ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของกัญชง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรมเผยแพร่ความรู้ โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเตรียมความพร้อมหลังกฎหมายปลดล็อค
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยให้กับผู้ผลิตและผู้ให้บริการอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกระดับ ตั้งแต่วิสาหกิจชุมชน Street Food Food Truck โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจบริการอาหาร สถานที่ให้บริการอาหารแก่คนหมู่มาก เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์อาหาร เป็นต้น
และเพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารสู่ Smart Factory สถาบันอาหารได้มีการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อเป็นทางลัดในการพัฒนาและถ่ายทอด ให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึง และนำมาปรับใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านเครื่องจักรแปรรูปอาหารมาอย่างตอเนื่อง ทำให้ในปีนี้ สถาบันอาหารจัดเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการให้บริการแบบครบวงจร จากการจัดตั้ง Food Industrial Transformation Center ใน 2 จังหวัด คือ กรุงเทพ และจังหวัดสงขลา ที่พร้อมให้บริการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ การผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อทดลองตลาด โดยสายการผลิตได้รับการรับรองสถานที่ผลิตอาหาร(อย.) และยังมีบริการออกแบบโรงงาน ผังกระบวนการผลิต การขออนุญาตขึ้นทะเบียน การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและมาตรฐานประเทศคู่ค้า การประเมินอาหารใหม่ (Novel food) การตรวจวิเคราะห์ด้านห้องปฏิบัติการ การทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดทำแผนธุรกิจ และการวิจัยตลาด เป็นต้น
ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารไทย เผยแพร่อัตลักษณ์อาหารไทยและศักยภาพการเป็นครัวของโลกผ่าน ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม มีพื้นที่สำหรับจัดอบรมสัมมนา จัดงานเลี้ยง และกิจกรรมต่างๆ ขนาดความจุสูงสุดถึง 250 ที่นั่ง รวมถึงห้องสำหรับการสอนทำอาหาร (Culinary Class) ห้องสาธิตหรือเปิดตัวสินค้า (Demonstration Room) ที่มีฟังก์ชั่นการให้บริการรูปแบบต่างๆ ที่ยืดหยุ่นได้ไว้ให้บริการอีกด้วย
"ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยทุกระดับเข้มแข็ง เป็นนักรบเศรษฐกิจที่มีความพร้อมจะก้าวสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น จากระดับชุมชนสู่ภูมิภาค จากระดับภูมิภาคสู่ประเทศ และจากระดับประเทศสู่สากล เพื่อเป้าหมายการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 11 มีมูลค่าส่งออก 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 2.51 ดีขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12 และเมื่อเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยอินเดียอยู่อันดับที่ 3 อินโดนีเซียอันดับที่ 4 เวียดนาม อันดับที่ 5 และมาเลเซีย อันดับที่ 6"
อนึ่ง นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันอาหารเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท M.Sc. in Engineering Science Louisiana State University มีประสบการณ์การทำงานหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ล่าสุดดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(2559-2560) รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(2560-2561) และผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม(2561-2562) ตามลำดับ