กยท. ลุยต่อ จับมือกรมวิชาการเกษตร เร่งทดสอบระบุเชื้อสาเหตุโรคใบร่วง ดึงประเทศเพื่อนบ้านผู้ปลูกยาง กำหนดแนวทางช่วยชาวสวนยาง

ข่าวทั่วไป Monday January 20, 2020 08:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--การยางแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการเดินหน้าวิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เร่งทดสอบและระบุเชื้อราสาเหตุการเกิดโรคใบร่วงในยางพาราชนิดใหม่ พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญโรคพืชในประเทศสมาชิก ANRPC และ IRRDB ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูลเพื่อกำหนดหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางร่วมกัน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยว่า จากการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชระดับนานาชาติระหว่างวันที่ 13 – 15 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมไดมอนด์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจัดโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีผู้เชี่ยวชาญและ กลุ่มนักวิชาการด้านโรคพืชตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศ ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก ANRPC และ IRRDB ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระดมความคิดเห็น เพื่อหามาตรการป้องกันและกำจัดโรคใบร่วงในยางพาราชนิดใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่สวนยางภาคใต้ตอนล่างของไทย ซึ่งจากการสำรวจพบการแพร่ระบาดแล้วใน ๙ จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ ๗๖๒,๙๓๙.๓๔ ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบ ๘๑,๕๔๒ ราย "การประชุมร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญของไทยและต่างประเทศถือเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัจจุบันเรารู้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มาจากเชื้อราสายพันธุ์ใหม่ ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในด้านวิธีการ งบประมาณ ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการ การรักษา ระงับอาการ และดูแลสวนยาง ตลอดปัจจัยอื่น ซึ่งแต่ละประเทศจะกลับไปเร่งตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน สายพันธุ์อะไร โดยข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีความสำคัญในการต่อยอดเพื่อหามาตรการ แนวทางในการรักษาโรคใบร่วงในยางพาราสายพันธุ์ใหม่ต่อไป" ด้าน นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า ขณะนี้ กยท. อยู่ระหว่างเร่งบูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ของเชื้ออย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าเชื้อใดทำให้เกิดโรค โดยจะใช้ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์ เชื้อสาเหตุที่แท้จริง ประมาณ 3 เดือน เมื่อทราบลักษณะจำเพาะของเชื้อแล้ว จะสามารถบอกได้ว่าต้องใช้วิธีใดในการรักษาต้นยางที่ติดเชื้อ และจะสามารถหามาตรการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ "เบื้องต้นขอฝากให้เกษตรกรดูแลและบำรุงรักษาสวนยางให้แข็งแรง มีความต้านทานโรค โดยแนะนำเกษตรกรชาวสวนยางให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง กรณีชาวสวนยางพบต้นยางมีอาการของโรคให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของ กยท. เพื่อเข้าตรวจสอบ หากพบว่าติดเชื้อราชนิดนี้ให้ใช้สารกำจัดเชื้อรา เช่น เบโนมีล โพรปิเนป แมนโคเซป คลอโรธาโลนิล เฮกซาโคนาโซล หรือ ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลงโดยเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง จะสามารถลดความรุนแรงของโรคนี้ได้" รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ