“สึนามิ” บทเรียนรู้จัดการภัยพิบัติในอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday March 5, 2008 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ 3 ปีที่แล้วชี้ชัดสังคมไม่พร้อมพอต่อการจัดการภัยพิบัติในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันหน่วยงาน/องค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้ทำงานต่อเนื่องในพื้นที่ประสบภัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์สรุปบทเรียนรู้เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ กระบวนการ และวิธีการทำงาน กระตุกสังคมไทยเห็นความสำคัญใช้ “สึนามิ” เป็นบทเรียนรู้สร้างการเตรียมพร้อมรับมือพิบัติภัยอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทั้ง ก่อน-ระหว่าง-หลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดความรุนแรง/ผลกระทบ ดีที่สุดคือหนุนชุมชนเป็นฐานสร้างกลไกจัดการภัยพิบัติด้วยชุมชนเอง
ทั้งนี้ในการสัมมนาสรุปบทเรียนรู้ 3 ปี สึนามิ “เพื่อสังคมไทยที่พร้อมพอต่อภัยพิบัติ” ซึ่ง โครงการถอดรหัสข้อเรียนรู้เพื่อการอยู่ดีจากกรณีธรณีพิบัติภัยใต้ทะเลและคลื่นยักษ์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย กรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กองทุนไทยพาณิชย์เพื่อผู้ประสบภัย มูลนิธิสยามกัมมาจล จัดขึ้น โดยช่วงหนึ่งในการอภิปรายเพื่อยกระดับบทเรียนรู้สู่การทำงานในหัวข้อ “สังคมไทยกับการจัดการภัยพิบัติในอนาคต” มีข้อสรุปที่น่าสนใจจากหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ประสบภัย นั่นคือการใช้ชุมชนเป็นฐานและผสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายมาหนุนเสริมเพื่อสร้างกลไกการทำงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมและตระหนักว่ายังมีภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรมีความรู้เพื่อพร้อมมือให้ได้
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นผู้ประสบภัยพิบัติหรือผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ใช่เฉพาะภัยจากสึนามิ แต่ยังมีภัยพิบัติอื่น ๆ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว ฯลฯซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้จากผลกระทบภาวะโลกร้อน เราจึงควรมีความรู้เรื่องการเสี่ยงภัย และควรยกระดับบทเรียนที่ได้จากสึนามิมาสู่การแก้ไขปัญหา การจัดการภัยพิบัติในอนาคต
นางพันธ์สิริ วินิจจะกุล ผู้จัดการแผนกสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ในบทบาทของผู้สนับสนุนเห็นแนวทางที่จะทำงานในอนาคตโดยมีชุมชนเป็นฐานนั้น มีข้อพึงตระหนัก 4 ประการ คือ 1) ควรมีการเตรียมพร้อมด้านข้อมูล ความรู้ ที่แม่นพอสมควร และเป็นการผสานทั้งความรู้เชิงวิชาการและภูมิปัญญาชาวบ้าน ต้องตระหนักว่า “คนที่อยู่ในพื้นที่ย่อมรู้ดีกว่าคนข้างนอกหรือแม้แต่ที่ภาพถ่ายทางอากาศบอก” 2) ระบบการประสานงาน ต้องเปลี่ยนจากบทเรียน “อลเวง”อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อคราว “สึนามิ” ครั้งที่แล้วมาเป็นการประสานงานอย่างเป็นระบบของแต่ละภาคส่วน 3) ผู้รับผลกระทบคือผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เรามีชุมชนตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบแล้วฟื้นฟูขึ้นมาได้ ชุมชนเหล่านี้สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นได้จากประสบการณ์ที่เขาได้สัมผัสมาด้วยตนเอง และสามารถขยายได้ทันที เพราะเราอยู่ในช่วงของการเตรียมพร้อม
รองศาสตราจารย์ Akio Kawamura โครงการปัญญาชนแห่งเอเชียเพื่อประโยชน์สาธารณะ สถาบันเอเชียศึกษา ได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติกรณีแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน โดยกล่าวว่า เหตุการณ์นั้นแสดงให้เห็นการเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลายอย่าง กล่าวคือ แม้รัฐบาลมีหน้าที่ตรงในการวางแผนป้องกัน บรรเทาพิบัติภัย แต่ความเป็นทางการทำให้เกิดความล่าช้า ทำให้เห็นบทบาทขององค์กรชุมชนในภาคประชาสังคมที่เข้ามาเติมการช่วยเหลือที่ทันท่วงที จากการรวมตัวกันของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพราะเมื่อประสบภัยพบว่าร้อยละหกสิบได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น องค์กรของคุณแม่ที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัยมาให้การช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพราะจากประสบการณ์เขามีลูกแพ้อาหารบางอย่าง แม้รัฐบาลมีหน้าที่เอาอาหารมาให้ผู้ประสบภัยแต่รัฐบาลก็ไม่รู้ว่าเด็กคนไหนแพ้อะไร กลุ่มคุณแม่ไปเติมช่องว่างที่รัฐบาลทำไม่ได้ เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการทำงานอาสาสมัครอย่างมากและเกิดองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อดำเนินการให้ข้อมูล ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นเตรียมความพร้อมตลอดเวลา นอกจากนี้ยังสร้างความตื่นตัวให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลท้องถิ่นให้ความสนใจกลุ่มคนที่อ่อนเปราะหรือมีโอกาสที่จะประสบภัยมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ เป็นพิเศษ
น.อ.ชิติภัทร์ เพชรบูระณิน รองผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ปฏิบัติการ) กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นภารกิจรองรับการเกิดสึนามิอย่างแท้จริงเล็งเป้าหมายหกจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีการพัฒนาจนมีความพร้อมและได้ทำหน้าที่ในการเตือนภัยสึนามิมาหลายครั้งอย่างแม่นยำ มีการซักซ้อมสม่ำเสมอ และทำควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับสึนามิแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้หอสัญญาณเตือนภัย ให้โรงเรียนและชุมชนจัดทำแผนเตือนภัยของตนเอง
นางสาวสุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ในแง่หนึ่งพบว่ามีเรื่องดีจากกรณี “สึนามิ” คือเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักว่าภัยธรรมชาติไม่ได้มีแค่สึนามิแต่ยังมีภัยอย่างอื่น ๆ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้และเขาควรมีการเตรียมตัว ตรงนี้ในบทบาทผู้ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือมองว่าเป็นโอกาสและคิดต่อว่าควรสนับสนุนอย่างไร แค่ไหน ตอนสึนามิเราช่วยให้เกิดกองทุนหมุนเวียนการซ่อมสร้างเรือ ซึ่งได้ผลและมีการขยายไปสู่เรื่องอื่น ๆ ต่อมา และจากบทเรียนที่เกิดขึ้นเราพบว่า ความร่วมมือที่มีหน่วยงานโดยตัวชาวบ้านเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะทำหน้าที่ประสานเป็นคนกลางระหว่างชาวบ้านกับผู้ให้การช่วยเหลือและสามารถดำเนินการให้ชาวบ้านที่ร่วมมือสามารถคิดและพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติเราทำได้ไม่ใช่แค่คิดแต่ต้องลงมือทำ
นายอนุชา โมกขะเวศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีความตื่นตัวและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ การจัดการภัยพิบัติที่ดีต้องอาศัยการเตรียมพร้อมที่ดีเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ภายใต้การทำงานเชิงรุก ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาชน และเอกชน มุ่งเน้นการเสริมสร้างชุมชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างชุมชนให้มีความปลอดภัยและน่าอยู่ เป็นการจัดการเชิงรุกที่อาศัยชุมชนเป็นฐาน เพราะการจัดการภัยพิบัติในระดับชุมชนจะประสบผลสำเร็จไม่ได้หากคนในชุมชนขาดความตระหนักในการร่วมคิด วางแผนกำหนดมาตรการเตรียมรับภัยพิบัติด้วยชุมชนเอง บทเรียนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือการทำให้เขาสามารถยืนหยัดขึ้นมาอย่างภาคภูมิ และต้องให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมเสมอภาคตามความเหมาะสม.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : คุณรัตนา กิติกร โทร.0-2544-5611,081-929-0540

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ