กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) จำนวนไม่เกิน 800 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 ที่ระดับ 'A-(tha)' เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนเงินกู้บางส่วนและใช้เพื่อการลงทุน
หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EPG เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ EPG นอกจากนี้ ฟิทช์เชื่อว่าสิทธิของหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ ด้อยกว่าหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงไม่มากนัก เนื่องจากฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าต่อกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ จะคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 2 เท่า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2562 EPG มีอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.0 เท่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market): อันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในฐานะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้เพียงครั้งเดียวสำหรับอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย EPG เป็นผู้ริเริ่มในการผลิตพื้นปูกระบะ (Bed Liner) ที่ใช้ระบบตัวยึดโดยไม่ต้องเจาะรูบนตัวถังรถ (No-drilling Technology) เป็นรายแรกของโลก ซึ่งทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตพื้นปูกระบะในประเทศไทย นอกจากนี้ EPG ยังเป็นผู้ผลิตหลังคารถกระบะ (Canopy) ที่ผลิตจาก Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) Alloy แบบ 2 ชั้น ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ เนื่องจากพลาสติกประเภท ABS เป็นพลาสติกที่บริษัทผลิตรถยนตร์นิยมใช้ EPG จึงมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์นี้
EPG ยังเป็นผู้ผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM) รายใหญ่ของโลก ซึ่งใช้ในระบบทำความร้อน ระบบหมุนเวียนอากาศ ระบบปรับอากาศ ระบบท่อและระบบทำความเย็น ฉนวนยางประเภท EPDM เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะ (Niche product) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงประมาณร้อยละ 8-10 ของตลาดฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) ของ EPG จะยังคงอยู่ต่ำกว่า 1.0 เท่า ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่งสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทฯ อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำของบริษัทฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สามารถปรับตามความต้องการผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วงห้าปีงบการเงินข้างหน้า
การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย: EPG มีการกระจายแหล่งรายได้ที่ดีจากผลิตภัณฑ์ในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ (มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดในปีงบการเงิน 2562 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562) ธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น (ร้อยละ 27 ของรายได้ทั้งหมด) และธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 23 ของรายได้ทั้งหมด) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจผลิตรถยนต์และธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนคู่แข่งที่มาก นอกจากนี้ EPG ได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการที่มีการผลิตในธุรกิจเหล่านี้ในด้าน การจัดหาวัตถุดิบ และการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับการผลิตในธุรกิจเหล่านี้เป็น สารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติก
ฐานลูกค้าที่กระจายตัวดี: EPG ขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ ประมาณร้อยละ 50-60 ให้กับ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer) และ ผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40-50 ขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เอง สำหรับธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น รายได้ประมาณร้อยละ 30 มาจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้กับโครงการก่อสร้างโดยตรง และเพื่อช่วยสนับสนุนการขายในต่างประเทศ EPG มีโรงงานผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น อีกสองแห่งในประเทศสหรัฐฯ และจีน และให้ใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ แก่โรงงานสองแห่งในประเทศรัสเซียและอินเดีย สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม รายได้ประมาณร้อยละ 90 มาจากยอดขายในประเทศไทย ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายในประเทศเป็นการขายให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ
ความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวน: EPG มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบหลักได้แก่ สารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติก อาทิ High Density Polyethylene, ABS, Polypropylene, Polystyrene และ Polyethylene Terephthalate (PET) ซึ่งราคาสารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติกเหล่านี้ ก็จะผันผวนตามราคาปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบ โดยราคาปิโตรเคมีดังกล่าวมักจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันเป็นหลัก ฟิทช์คาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับตัวลดลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม EPG สามารถจะปรับราคาขายขึ้นตามราคาวัตถุดิบได้บ้าง ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก และธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น มีคู่แข่งอยู่ไม่มากนัก
รายได้เติบโตในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ EPG จะยังคงเติบโตในระดับปานกลาง (ร้อยละ 4-5 ต่อปี) ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เนื่องจากการเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจผลิตรถยนต์ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และ ค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) จะคงที่ในปีงบการเงิน 2563 ซึ่งต่ำกว่าในช่วงปีงบการเงิน 2559-2560 เนื่องจากอัตราส่วนกำไรที่ต่ำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
EPG มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า EPG ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก คล้ายกับ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL หนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า ทั้งสองบริษัทมี EBITDA margin ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัท ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ โดยมี FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 1.0 เท่า อันดับเครดิตจึงเท่ากัน
สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ EPG มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกวัดจากรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทฯเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มี EBITDA และ EBITDA margin ที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามบริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 1.0 เท่า
EPG มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD (BBB(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย JWD มีส่วนของรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้มากกว่าจากสัญญาสัมปทานและสัญญระยะปานกลางถึงระยะยาว ในธุรกิจให้บริการดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้า แต่ EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่มากกว่า ฐานลูกค้าของทั้งสองบริษัท มีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดี อย่างไรก็ตาม EPG มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า เนื่องจาก JWD มีการลงทุนที่สูงในปี 2561-2562 ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้น ดังนั้นอันดับเครดิตของ EPG จึงสูงกว่า
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- การเติบโตของรายได้ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี
- EBITDA margin คงที่ในปีงบการเงิน 2563 (ปีงบการเงิน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 14.3) และค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในปีงบการเงิน 2564-2565
- การลงทุนลดลงเหลือประมาณร้อยละ 5 ของรายได้โดยเฉลี่ย (ปีงบการเงิน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 6.8)
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 70-75 ของกำไรสุทธิ (ปีงบการเงิน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 71)
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ขนาดของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ตำแหน่งทางการตลาดและสถานะทางธุรกิจ (Business Profile) ดีขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- EBITDAR margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: EPG มีการใช้เงินกู้ระยะสั้นในระดับที่สูงมาก แต่ฟิทช์ก็ยังคงมองว่าสภาพคล่องของ EPG อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยสภาพคล่องได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 773 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2562 โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท โดยประมาณ ร้อยละ 83 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินที่สามารถยกเลิกได้ จำนวน 4.5 พันล้านบาท ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถ roll over หนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจออกไปได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำและมีความเสี่ยงในด้านธุรกิจที่ไม่มาก ฟิทช์คาดว่า EPG จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นบางส่วน ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัทฯ