มาเรียนรู้คุณค่างานศิลปะจากช่างฝีมือขั้นสูง ผ่านผลงานแฮนด์เมดมาสเตอร์พีซ ฉลอง 37 ปี โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์

ข่าวบันเทิง Monday January 20, 2020 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--โซลิสเตอร์ พีอาร์ หากเอ่ยถึง โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ (Lotus Arts de Vivre) หลายคนอาจเกิดคำถามว่า... คืออะไร? แต่สำหรับนักสะสมงานศิลปะทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านชื่อก้องโลก โดยช่างฝีมือชั้นสูงสัญชาติไทยมาตรฐานระดับสากล ก่อตั้งโดย คุณรอล์ฟ วอน บูเรน และภรรยา เฮเลน วอน บูเรน ในปี พ.ศ. 2525 ... แม้ คุณรอล์ฟ วอน บูเรน จะเป็นชาวเยอรมัน และ ภรรยา คุณเฮเลน วอน บูเรน เป็นลูกครึ่ง สกอตแลนด์-ไทย แต่หัวใจ รักเมืองไทยเกินร้อย และด้วยความรักในงานศิลปะ รักงานดีไซน์ กอปรกับความชื่นชอบท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม และงานหัตถกรรมของแต่ละประเทศทั่วโลก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบจิวเวลรี่และ ของตกแต่งบ้าน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสะท้อนงานศิลป์สไตล์เอเชีย ผ่านวัสดุหลากหลายที่หายากมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน อันเลอค่า ที่เป็นมากกว่าเพียงแค่จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้าน จากวันนั้นถึงวันนี้ กว่า 37 ปี โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ เป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่อยู่ในใจของเหล่านักสะสมทั่วโลกได้รู้จักคำว่า "แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านจากประเทศไทย มาตรฐานระดับสากล และสร้างชื่อเสียงระดับโลก" โดยทุกชิ้นงานจะเริ่มต้นออกแบบในประเทศไทยและจะถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อประดิษฐ์ชิ้นงานก่อนจะถูกส่งกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อให้ช่างฝีมือของไทยซึ่งได้ชื่อว่ามีฝีมือละเอียดอ่อน ประณีต ได้ทำการเก็บรายละเอียดต่างๆ ก่อนออกสู่สายตาให้คนทั้งโลกได้ยลโฉมงานศิลปะอันเลอค่า และถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางแบรนด์ฯ ได้ทำคอลเลกชั่นพิเศษฉลอง 37 ปี ซึ่งแต่ละชิ้นได้สะท้อนความสวยงามของศิลปหัตถกรรมของประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ศิลปะการลงรัก แบบมากิเอะ จากประเทศญี่ปุ่น และ การลงรักสีแดงชาด จากประเทศจีน มาปรากฏในชิ้นงานแต่ละชิ้น วันนี้จึงอยากจะพาไปเรียนรู้คุณค่าของงานศิลปะ ที่สะท้อนจิตวิญญาณของวัฒนธรรมแต่ละประเทศ เริ่มต้นกันที่ประเทศที่คนไทยหลงใหลมากที่สุด "ญี่ปุ่น" ประเทศเล็กๆ ที่มีมหาสมุทรแปซิฟิกล้อมรอบ แม้จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรม ศิลปะ อันเป็นแก่นของชาติไว้ได้ อย่างดีงาม ซึ่งศิลปะต่างๆ ของญี่ปุ่นนั้นส่วนมากมีรากฐานมาจากศาสนาชินโต ครอบคลุมไปถึงความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ในธรรมชาติมิติต่างๆ ผสานกับพุทธศาสนานิกายเซนด้วยแนวคิดนิยมธรรมชาติและความเรียบง่าย สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอด สู่งานศิลปะ เช่น ชะโด (พิธีชงชา), อิเคะบะนะ (การจัดดอกไม้), โชโดะ (การเขียนพู่กันญี่ปุ่น) รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ประติมากรรม และการเขียนตัวอักษรบนผ้าไหมและกระดาษ ภาพอูกิโยะ และภาพที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้แกะสลัก งานเครื่องเคลือบ การพับกระดาษ เป็นต้น ล้วนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปรัชญาอันเป็นเอกลักษณ์ของนิกายเซน เน้นความสงบ ความเรียบง่าย และการเติบโตของตนเอง เมื่อญี่ปุ่นเปิดการติดต่อกับโลกตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ศิลปะญี่ปุ่นมีอิทธิพล อย่างยิ่งต่อศิลปะยุโรป โดยเฉพาะกับแนวศิลปะบาศกนิยม (Cubism) และอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) และมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมและการออกแบบของตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 20 และเมื่อชาวญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคนิค "การลงรัก แบบมากิเอะ" (Maki-e lacquering) ซึ่งเป็นศิลปะการลงรักอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่น โดย การลงรัก แบบมากิเอะ (Maki-e lacquering) เป็นเทคนิคที่นิยมใช้เพิ่มความสวยงามให้กับของใช้ในครัวเรือน ทำจากไม้ สำหรับราชวงศ์และผู้นำทางทหารในฐานะสัญลักษณ์แห่งอำนาจ โดยใช้พู่กันวาดภาพลงบนภาชนะ เครื่องใช้ ในครัวเรือน แล้วลงรักด้วยการโรยผงทอง ก่อนจะเคลือบทับด้วย แลคเกอร์จากธรรมชาติ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีงานศิลปหัตถกรรมอันลือเรื่องของโลกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลจาก ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และพุทธศาสนา จนเกิดเป็นความเชื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่อง "เทพเจ้า" ที่จะนำความมงคลมาสู่ครอบครัว ซึ่งนอกจากเครื่องประดับนำโชคแล้ว ยังเชื่อเรื่องการนำของมงคลมาตกแต่งบ้าน ตามศาสตร์ ฮวงจุ้ย อาทิ จิ้นฉาน หรือ คางคกนำมาซึ่งความโชคดีช่วยดึงดูดและคุ้มครองความมั่งคั่ง ร่ำรวยและปกป้องโชคร้าย, พระจีน ถือเงินตำลึงจีน แสดงถึงความมั่งคั่งและความโชคดี, เต่า สัญลักษณ์การมีอายุยืนยาว จึงเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้มาครอบครอง หากต้องการนำรูปปั้นเต่ามาประดับไว้ในบ้าน ตำแหน่งที่ควรวางไว้คือห้องผู้สูงอายุ เหมือนกับเป็นเครื่องรางช่วยเสริมพลังงานชีวิตของผู้สูงอายุให้มีอายุยาวนานขึ้น เสือ สัญลักษณ์ของผู้ทรงอำนาจ กล้าหาญ และแข็งแกร่งสมเป็นผู้นำ ห้องของผู้บริหารจึงเหมาะที่จะต้องมีรูปปั้นเสือ เพื่อเสริมบารมี, มังกร ชาวจีนเชื่อว่า มังกร คือ สัตว์ของเทพเจ้า เป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง ดังนั้นจึงนิยมนำรูปปั้นมังกรมาประดับไว้ในห้องทำงาน เพื่อเสริมฮวงจุ้ย ศิลปะแบบจีนที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นก็คือ เครื่องปั้นดินเผา แต่งานเครื่องเขินแกะสลักแบบจีน ก็เป็นอีกหนึ่งศิลปหัตถกรรม ที่โดดเด่นและใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี โดยจักรพรรดิมักนิยมพระราชทานให้เป็นของขวัญทางการทูต การเมือง หรือมอบให้กับศาลหัวเมืองในราชวงศ์ ซึ่งแน่นอนว่างานเครื่องเขินแกะสลักแบบจีนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะใช้เทคนิค การลงรัก สีแดงชาด หรือ เลือดมังกร โดยการนำยางของต้นครั่ง (Lac tree) ซึ่งมีสีแดง กันน้ำ ทนความร้อนสูง มีความยืดหยุ่น และไม่พบในโลกตะวันตก มาใช้ในการสร้างผลงานศิลปะ โดยจะลงรักสีแดงทีละชั้นเป็นร้อยๆ ชั้น ให้มีความหนาพอที่จะแกะสลัก และนำไปครีเอทเป็นเครื่องประดับนั่นเอง "หยกแกะสลัก" เป็นอีกหนึ่งอัญมณีสำคัญของชาวจีน เพราะหยกถูกใช้เพื่อสร้างทั้งเครื่องใช้และเครื่องพิธีกรรม และ ถือเป็น "อัญมณีแห่งจักรพรรดิ" หยกมีคุณสมบัติพิเศษ เทียบได้กับทองคำและเพชรในโลกตะวันตก ชาวจีนมีความเชื่อ ทางจิตวิญญาณว่า หยก เป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอำนาจปกป้องและรักษาร่างกายและวิญญาณของผู้สวมใส่ จากสิ่งชั่วร้าย นำมาซึ่งสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย ความมีโชคแก่ผู้ครอบครองและทำให้อายุยืนอีกด้วย ดังนั้น ชาวจีนจึงนำหยกมาเป็นเครื่องประดับและเครื่องราง เพราะเชื่อว่า หยก จะเปลี่ยนสีตามผู้สวมใส่ หากหยกมีสีสันสดใส นั่นก็หมายความว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค แต่ถ้าหากหยกมีสีหมองลงหรือมองเห็นรอยแตกร้าวชัดขึ้นก็แปลว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์มาเยือนนั้นเอง ได้เรียนรู้ศิลปะ ความงดงามของงานฝีมือจากผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายประเทศผ่านจิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านที่แฝงไปด้วยความหมาย คุณค่าของวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาเป็นงานดีไซน์อันมีเอกลักษณ์... ผู้ที่หลงใหล งานศิลปะจากช่างฝีมือชั้นสูง สามารถครอบครองงานดีไซน์สุดเลอค่ากับ 90 ผลงานแฮนด์เมดมาสเตอร์พีซ จากช่างฝีมือชั้นสูง สะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมและหัตถกรรมของเอเชีย เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 37 ปี แบรนด์โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ (Lotus Arts de Vivre) ได้ที่ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ บูทีค ชั้น 1 โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เวลา 10.00 - 19.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.lotusartsdevivre.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ