กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับจังหวัดกระบี่ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยน้ำขาว และหอการค้าจังหวัดกระบี่ เปิดตัว "ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำแร่ธรรมชาติจังหวัดกระบี่" ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia) มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างคุณค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ ผนึกกำลังทำงานแบบจตุภาคี สร้างสินค้าต้นแบบระดับพรีเมียมแก่ชุมชน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน โดยจังหวัดมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ โดยจังหวัดได้กำหนดแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันที่อำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์และมีความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดเป็นน้ำพุร้อนเค็ม ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในประเทศไทยและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก กล่าวคือ เป็นน้ำพุมาจากชั้นใต้ดินตามธรรมชาติ น้ำมีรสเค็มเนื่องจากเกิดจากการผสมกันระหว่างน้ำร้อนและน้ำทะเลในระดับลึก ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นประจำชุมชนห้วยน้ำขาว แต่ที่ผ่านมายังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพยากรให้เป็นเอกลักษณ์และสร้างชุมชนต้นแบบ
ดังนั้น จังหวัดกระบี่ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยน้ำขาว และหอการค้าจังหวัด จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำแร่จากแหล่งธรรมชาติดังกล่าว พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากน้ำพุร้อนเค็ม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นประจำชุมชนห้วยน้ำขาว ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ชุมชนห้วยน้ำขาวให้มีโอกาสเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งมีการเชื่องโยงเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนตามแนวทางประชารัฐ สร้างโอกาสทางการตลาดให้เกิดการกระจายสินค้า ซึ่งจะสามารถผลักดันสินค้าให้เข้าสู่ตลาดระดับบน อีกทั้งในพื้นที่ยังมีการสร้างธรรมนูญในการใช้น้ำพุร้อนเค็มอย่างรู้คุณค่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินี้ให้ยั่งยืนต่อไป
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำพุร้อนเค็ม โดยใช้วิทยาศาสตร์ ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบและพัฒนาน้ำพุร้อนเค็ม พบว่า น้ำพุร้อนเค็มมีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีผลดีต่อผิวในด้านการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และให้ความชุ่มชื้นต่อผิว มีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ดีกว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว วว. จึงนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้า ในรูปแบบของ สเปรย์น้ำแร่ ซีรัมบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย โดยทำการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาพผิวหน้าสามมิติที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน เช่น VISIA และ ANTERA 3D ทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่า ริ้วรอยลดลงและสีผิวเรียบเนียนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำพุร้อนเค็มอย่างชัดเจน
"...สำหรับการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดกระบี่ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia) ในครั้งนี้ของ วว. เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการดำเนินงานภายใต้โครงการ Thai Cosmetopoeia วว. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดันให้การดำเนินสำเร็จไปด้วยดี สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากน้ำพุร้อนเค็ม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยนำน้ำพุร้อนเค็มมาใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพ จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่า (Value Creation) กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ มีการทำงานแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน…" ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุปในตอนท้าย
อนึ่ง โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia) โดย วว. ขับเคลื่อนรวมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน มากกว่า 30 หน่วยงาน มุ่งเน้นการคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Creation of Shared Values โดยนำเอาทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ ผู้ใช้ประโยชน์จะต้องคืนหรือชดเชยให้กับทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมที่ใช้ไป เพื่อให้เป็นต้นทุนและสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต อีกทั้งหากเกิดการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรในท้องถิ่น ก็จะส่งผลต่อการจ้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ลดการกระจุกตัวของงานในเมืองลง ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม อาจกล่าวได้ว่า โครงการ Thai Cosmetopoeia ส่งผลกระทบเชิงบวกทุกมิติ จะเป็นโครงการอีกหนึ่งโครงการฯ ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศภายใต้ Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือขอรับการปรึกษาเพื่อพัฒนาพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นในรูปแบบเครื่องสำอาง ได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0 2577 9300 (ในวันและเวลาราชการ) www.tistr.or.th Email : tistr@tistr.or.th Line@TISTR