กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง จัดโครงการเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ให้ความร่วมมือและประสานการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นายสันติ์ จันทรวงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างประเมินค่ามิได้ จากสถิติสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พบว่า อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนจังหวัดตรัง จากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงมีความจำเป็นที่จะให้ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับท้องถิ่นมีความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับท้องถิ่น ดังนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง จึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบาย และการจัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับท้องถิ่น อีกทั้งให้ความร่วมมือในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานด้านการประสานการปฏิบัติงานลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยมีบุคลากรระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้าร่วมโครงการ จำนวน 110 คน ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านวิศวกรรมจราจร ด้านการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และด้านการประเมินผล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีแนวทางการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยกระดับความปลอดภัยทางถนนในระดับประเทศ ส่งผลให้สามารถลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจังหวัดตรังจากอุบัติเหตุทางถนนได้มากยิ่งขึ้น