ร่วมสมโภช “ศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” พระอารามหลวงชั้นเอก วิจิตรด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ทรงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 22, 2020 08:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--วัดราชบพิธสถิตมหารสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและมีพิธีก่อพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๑๒ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ ๑ ปี คำว่า "ราชบพิธ" หมายความว่า "พระราชาทรงสร้าง" เนื่องในศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี แห่งการพระราชทานสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร คณะวัดราชบพิธสถิตมหารสีมาราม ประกอบด้วยคณะสงฆ์ นำโดย เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ตลอดจนหน่วยงานภาคี เช่น โรงเรียนวัดราชบพิธ ราชบพิธสมาคม และองค์กรภาครัฐภาคเอกชน ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปร่วมแต่งกายผ้าไทยเข้าร่วมงานสมโภช "ศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปีแห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเปิดให้ประชาชนร่วมงานได้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ เขตพุทธาวาส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดรับการบำเพ็ญพระกุศลสมโภชพระอาราม ในวันอังคารที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ และวันพุธที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๓ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระอาราม ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันพุธ ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๓ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานสมโภชพระอาราม ได้กล่าวถึงรายละเอียดที่น่าสนใจในการจัดงานว่า "เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญ ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เผยแพร่ประวัติความเป็นมาและศิลปกรรมอันงดงามวิจิตรภายในวัดซึ่งล้วนเป็นศิลปกรรมชั้นเอก มีความประณีตงดงาม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติของพระอารามหลวงแห่งนี้ อีกทั้งพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตลอดจนเผยแพร่เกียรติคุณเจ้าอาวาสในทุกยุคให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ข้อมูลเหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้ตระหนักถึงคุณค่าทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และความเป็นไทยของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อันแฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัด เพื่อสืบทอดคุณค่าความเป็นไทย และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเป็นโอกาสอันดีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รู้จักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมากขึ้น นำไปสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในสายตาของชาวต่างประเทศ สามารถนำชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย ดังนั้นคณะวัดราชบพิธสถิตมหารสีมาราม จึงมีมติจัดงานสมโภช "ศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" โดยภายในงานมีกิจกรรมที่สนใจประกอบด้วย - นิทรรศการแสดงเครื่องราชสักการะที่ได้รับพระราชทานถวายในโอกาสต่างๆ และสิ่งของเครื่องใช้ของอดีตเจ้าอาวาสในทุกยุค เช่น ฝาบาตรและเชิงบาตรมุกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุ่มเงินพุ่มทองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพัดรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ - นิทรรศการ "นำชมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" ให้ช้อมูลความรู้ทางสถาปัตยกรรมภายในวัด ซึ่งมีความวิจิตรงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมสะท้อนความเป็นไทย อาทิเช่น พระอุโบสถซึ่งได้รับการออกแบบโดยผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมตะวันออก-ตะวันตก และศิลปกรรมไทยรวมกันจนมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ภายนอกได้รับการออกแบบโดยนายช่างศิลปกรรมชั้นครูแห่งยุคคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ส่วนสถาปัตยกรรมภายใน ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก มีการตกแต่งเสาและเพดานโค้งแบบโกธิค ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพรรณพฤกษาผสมผสานกับลายไทย และส่วนสำคัญสุด คือการนำกระเบื้องเบญจรงค์จากประเทศจีนมาประดับอาคารส่วนต่าง ๆ โดยลายกระเบื้องเป็นฝีมือออกแบบของพระอาจารย์แดง แห่งวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่ประเทศจีน ความงดงามเหล่านี้ได้รับการ ทำนุบำรุงดูแลรักษาอย่างดีมาตลอดระยะเวลาร่วม ๑๕๐ ปี - แสงเสียงและสื่อผสม – ผู้ร่วมงานจะได้สัมผัสคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และศาสนา ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามให้เห็นเด่นชัด ในรูปแบบแสงเสียงและสื่อผสม ซึ่งเป็นการจัดแสดงครั้งแรกในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม - ห้องฉายภาพ "ฉายานิติกร" - ขอเชิญแต่งกายผ้าไทยมาฉายรูปที่ห้องภาพ "ฉายานิติกร" โดย นิติกร กรัยวิเชียร โดยจะเปิดให้บริการตามวันและเวลาดังนี้ วันที่ ๒๔, ๒๕, ๒๖ มกราคม, วันที่ ๓๑ มกราคม, วันที่ ๑ - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. ณ อาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ ๒ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ค่าบริการภาพละ ๙๙ บาท พร้อมรับภาพในงาน *** รายได้จากการถ่ายภาพ เพื่อบำรุงพระอาราม*** - นิทรรศการโครงการสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมุพพรมหาเถร) คลอง ๙ ปทุมธานี – นิทรรศการการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม บนพื้นที่กว่า ๑๒๗ ไร่ ๑ งาน ๕๙.๗ ตร.วา ที่ได้รับการออกแบบจากอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) และทีมอาศรมศิลป์ ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เน้นธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาและสังฆบูชา ถวายแด่พระพุทธเจ้า ถวายแด่บุรพาจารย์ทุกองค์ ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชทั้ง ๓ พระองค์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถวายแด่บูรพกษัตริย์ไทยทุกๆ พระองค์ และสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม - ร้านจำหน่ายหนังสือ และของที่ระลึกเนื่องในศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญยิ่ง โดยเชิญชวนร่วมแต่งกายผ้าไทยเข้าร่วมงานสมโภชพระอาราม เนื่องใน "ศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปีแห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม" สามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม เป็นต้นไป - วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดงานได้ทางเฟซบุ๊กเพจ สมโภช 150 ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เกี่ยวกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ใกล้ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้านตะวันออกจดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจดถนนอัษฎางค์ ด้านเหนือจดถนนราชบพิธ และด้านใต้จดคลองหลอด ย้อนไปเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาสถาปนาไว้เป็นพระอารามประจำรัชกาลของพระองค์ เป็นวัดที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๕ ก่อพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๑๒ โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นเจ้าอาวาสยุคที่ ๑ ในครั้งอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุสถานสำหรับพระอารามอย่างงดงามวิจิตรด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นเอก ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการสร้างและทำนุบำรุงในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะในเขตพุทธาวาส ซึ่งมีไพทียกพื้นขึ้นเป็นสัดส่วน มีอาคารสำคัญประกอบไปด้วยพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร พระวิหารทิศ พระวิหารคด และศาลาราย ซึ่งล้วนแล้วด้วยกระเบื้องเบญจรงค์ประดับเป็นเอกลักษณ์จำเพาะพระอาราม นอกไพทียังมีพลับพลา ศาลา ตึก และกำแพงพร้อมเสาสีมา เป็นสิ่งปลูกสร้างอันงดงามลงตัวอยู่โดยรอบ บ้างก็ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ ๕ บ้างก็ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นในรัชกาลต่อๆ มาตราบจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ด้วยอำนาจแห่งพระราชศรัทธาและพระมหากรุณาเป็นปฐมเหตุ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว วัดราชบพิธยังคงได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงพระอารามอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเขตสังฆาวาส เพื่อถวายเป็นเครื่องสนองพระคุณแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสยุคที่ ๒ ซึ่งเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อพระองค์ทรงผนวช ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสและพระราชทานกัปปิยภัณฑ์บำรุงเสนาสนะและพระภิกษุสามเณรมิได้ขาด ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซ่อมแซมพระอารามครั้งใหญ่ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล จึงนับได้ว่าพระอารามนี้เป็น พระอารามประจำรัชกาลที่ ๕ และอนุโลมเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ ๗ ด้วย ดังมีพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ บรรจุที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถอยู่เป็นสำคัญ ตราบถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรแม้เป็นชั่วระยะสมัยสั้นๆ แต่ก็ยังทรงพระราชศรัทธาเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมาทรงเยี่ยมพระอาราม เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อย่างยิ่งยวด ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวารโอกาสต่างๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยแห่งเจ้าอาวาสยุคที่ ๔ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ วัดราชบพิธเป็นวัดที่มีศิลปกรรมชั้นเอกซึ่งประณีตงดงามเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นย่อมต้องได้รับการทำนุบำรุงปรับปรุงซ่อมแซมอยู่เสมอ แต่กระนั้นก็มิใช่การง่ายนัก ด้วยการจะธำรงรักษามรดกศิลปกรรม อันงามวิเศษเช่นนี้ ย่อมต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล และอาศัยความชำนาญเชิงช่างเฉพาะทางอย่างชั้นสูง แม้พระอารามจะได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อวาระ ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนา ในพุทธศักราช ๒๕๑๓ และในพุทธศักราช ๒๕๒๔ เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี แต่กาลเวลาก็ยังให้เกิดสภาพชำรุดทรุดโทรมเกิดขึ้นเป็นลำดับ โดยพุทธศักราช ๒๕๕๘ ทางวัดได้ริเริ่มโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์โครงการทันวารกาล ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ