กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มกอช. ติวเข้มผู้ประกอบการ รู้จักระเบียบความปลอดภัยอาหารของแคนาดา มุ่งยกระดับ ส่งเสริม และพัฒนาขีดความสามารถการผลิต-ส่งออก สร้างโอกาสสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปแคนาดา ระบุปี 2561 สร้างรายได้มูลค่าถึง 19,827 ล้าน
วันนี้ (22 ม.ค.63) ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง รู้จักระเบียบความปลอดภัยอาหารของแคนาดา : ข้อกำหนดสิ่งปนเปื้อนทางเคมี (Seminar on Chemical Contaminants in Imported Foods to Canada) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ที่สนใจในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังแคนาดา จำนวน 150 คน เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรม รามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร
ดร.จูอะดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา มกอช. มีการดำเนินความร่วมมือกับ CFIA ภายใต้ Offshore Food Safety Program ในสองส่วนหลัก ได้แก่ การทวนสอบสถานประกอบการผลิตอาหารที่ส่งออกไปยังแคนนาดา และการความช่วยเหลือทางเทคนิค โดยส่วนแรก เรื่อง การทวนสอบสถานประกอบการผลิตอาหาร ซึ่ง มกอช. เป็นหน่วยงานประสานงานหลักระหว่าง CFIA และหน่วยงานฝ่ายไทย ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมิน รวมทั้งประสาน และรวบรวบรวมแจ้งรายงานผลการทวนสอบ และผลการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้า ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2560 สำหรับส่วนที่ 2 ด้านการความช่วยเหลือทางเทคนิค มกอช. ได้ร่วมกับ CFIA จัดสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ เผยแพร่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังแคนาดา โดยจัดการสัมมนามาแล้ว 1 ครั้ง เรื่อง การติดป้ายฉลากสำหรับสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
"มกอช. และ CFIA จึงสานต่อความร่วมมือจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของแคนาดา ข้อกำหนดสิ่งปนเปื้อนทางเคมีในผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารของแคนาดา การกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด สารปนเปื้อน สารก่อภูมิแพ้การเฝ้าระวังรวมถึงการตรวจสอบ ก่อนการนำเข้าและการทดสอบในห้องปฏิบัติการฝ่ายไทย ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมิน รวมทั้งยกระดับ ส่งเสริม และพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญและเป็นตลาดส่งออกที่สร้างโอกาสให้แก่สินค้าเกษตรและอาหารของไทย"เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ดร.จูอะดี กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก CFIA บรรยายให้ความรู้ และตอบข้อซักถาม ในหัวข้อ บทบาทและความรับผิดชอบของฝ่ายวิทยาศาสตร์ภายใต้ CFIA ห้องปฏิบัติการทดสอบทางอาหาร อันตรายทางเคมีและการกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด การดำเนินการเฝ้าระวัง ระเบียบความปลอดภัยอาหารของแคนาดา และข้อกำหนดและขั้นตอนในการนำเข้าอาหาร ผ่านระบบ Video Conference ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มกอช. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และ องค์การตรวจสอบอาหารของแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency หรือ CFIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหารของแคนาดา ภายใต้โครงการที่เรียกว่า Offshore Food Safety Program ของ CFIA โดยเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการควบคุมความปลอดภัยอาหาร และให้ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออกอาหาร ไปยังแคนาดา ให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎระเบียบการนำเข้า
ดร.จูอะดี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกสินค้าจาก ไทยไปแคนาดาในช่วงปี 2559-2561 คิดเป็นมูลค่ารวมเฉลี่ย 48,708 ล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าเฉลี่ย 20,087 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังแคนาดา โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปแคนาดา โดยในปี 2561 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่าถึง 19,827 ล้านบาท และที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรมาโดยตลอด