กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
วันนี้ (22 มกราคม 2563) เวลา 9.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดทำแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยรองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายภายหลังการประชุมให้ทุกหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต้องติดต่อประสานงานและประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นแผนงานบูรณาการอย่างแท้จริง ลดความซ้ำซ้อนใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้ตามเป้าหมาย
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ขอบเขตภารกิจ เป้าหมายร่วม แนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเป้าหมาย และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม ครบถ้วน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมวันนี้ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณา แผนงาน/โครงการ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2564 โดยกำหนดใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบการจัดทำแผน โดยต้องมีผลสัมฤทธิ์มีเป้าหมายร่วม และทำงานร่วมกันมากกว่า 1 หน่วยงาน ทั้งนี้ แบ่งลักษณะการบูรณาการออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Area Based บูรณาการเชิงพื้นที่ เช่น เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 2. Project Based บูรณาการงาน ในลักษณะโครงการที่เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันทั้งระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งโครงการร่วมกัน และ 3. Agenda Based บูรณาการเชิงนโยบาย เป็นรูปแบบโครงการที่มีนโยบาย หรือประเด็นสำคัญ ที่หน่วยงานต้องร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เกษตรแปลงใหญ่
สำหรับการพิจารณาในส่วนของแผนงานบูรณาการด้านน้ำ ปี 2564 มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การผันน้ำ ช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย แผนงานจาก 21 หน่วยงาน ใน 10 กระทรวง จำนวน 16,035 โครงการ ทั้งนี้ เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีก 1,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์ 1,612,202 ไร่ และมีครัวเรือนรับประโยชน์ถึง 1,597,516 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 3,439,016 ไร่ และพื้นที่ที่ดำเนินการป้องกันตลิ่งอีก 255 กิโลเมตร
ท้ายสุด พลเอกประวิตร กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ดังนั้น การทำแผนเราต้องร่วมหารือกันเพื่อให้เกิดเป็นแผนงานบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ในทุกขั้นตอน และสามารถขับเคลื่อนแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ได้ตามเป้าหมาย และช่วงเวลานี้ เรากำลังประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ขอให้ทุกหน่วยงาน เร่งรัดดำเนินงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ อย่างยั่งยืน