กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
วันนี้ (22 มกราคม 2563) นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ณ เอ็ม บูทีค รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเสนอ (ร่าง) แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงเหนือ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ เข้าร่วมประชุมกว่า 79 คน
นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. กล่าวว่า ขณะนี้ สทนช. และทีมที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงเหนือ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 รวมทั้งสิ้น 789 โครงการ ประกอบด้วย แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 77,000 ไร่ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ระเมาตอนกลาง - บ้านห้วยยะอุ เป็นต้น แผนระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2563-2565) จำนวน 301 โครงการ คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 249,000 ไร่ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำวังปลาก่อ เป็นต้น แผนระยะสั้น (พ.ศ.2566-2570) จำนวน 243 โครงการ คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 62,000 ไร่ แผนระยะปานกลาง (พ.ศ.2571-2575) จำนวน 115 โครงการ แผนระยะยาว (พ.ศ.2576-2580) จำนวน 122 โครงการ ทั้งนี้ ในการศึกษาครั้งนี้ มีแผนหลักที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญและแผนระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2563-2565) ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 164 โครงการ ในพื้นที่ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 84,000 ไร่ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ระเมาตอนกลาง - บ้านห้วยยะอุ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านชัยพัฒนา เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ สทนช. จะได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง ผลการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะสามารถส่งมอบแผนหลัก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ที่จัดลำดับความสำคัญแล้ว ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอความเห็น และให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ หากโครงการมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หวังให้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายผลไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไป" ที่ปรึกษาฯ สทนช. กล่าวในตอนท้าย