กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--การบินไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ระหว่างบริษัท
การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กับ Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมี นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ และนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนาม พร้อมด้วยพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทยฯ ร่วมในพิธี ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกออกกฎห้ามใช้หรือให้มีการเก็บภาษีพลาสติกเพื่อยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastics) รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นวาระของชาติ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติก และช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีการรณรงค์สร้างความตระหนักและตื่นตัวในการใช้พลาสติกหมุนเวียนในหน่วยงานทุกภาคส่วนสังกัดกระทรวงคมนาคม ในส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์มีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งการบริหารจัดการเพื่อมิให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจ โดยการจัดทำโครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ร่วมกันลดขยะอาหารของโลก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดอัตราการสูญเสียทางด้านทรัพยากร
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การบินไทยและไทยสมายล์ตระหนักถึงปัญหา Food Waste พร้อมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก "ขยะอาหาร" ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันข้อมูลจากการศึกษาใหม่ๆ พบว่าองค์ประกอบของขยะมูลฝอยของบางพื้นที่มีขยะอาหารเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนร้อยละ 33-50 ของขยะทั้งหมด ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ปัญหา Food Waste นับได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal (SDG) ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2573 ข้อที่ 12.3 หรือ SDG 12.3 ได้ขอให้ประเทศต่างๆ และบริษัทต่างๆ ร่วมกันลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 ในระดับผู้จำหน่ายอาหารและระดับผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ การบินไทย ที่มีชื่อเสียงในการทำอาหารอร่อย มีคุณภาพดี ต้องสนใจความยั่งยืน และการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งการลดปริมาณขยะอาหาร จำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ถูกต้องมีการทำงานที่เป็นระบบ และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันลดขยะอาหาร
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติได้ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด และในปี 2563 นี้ การบินไทยจะดำเนินกิจการมาครบ 60 ปี จึงได้กำหนดนโยบาย โดยเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร (Food Waste Management) ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการผลิตอาหารในครัวการบิน และลดปริมาณอาหารที่เหลือจากการให้บริการบนเครื่อง
โดยโครงการ Food Waste Management จะทำให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการด้านทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การบินไทยมีการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ โดยจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน ผู้โดยสาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้ การบินไทยยังกำหนดเป้าหมายโดยมุ่งสู่การเป็นสายการบินเพื่อความยั่งยืน ภายในปี 2566
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การบินไทยได้มีการบริหารจัดการในการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การหาวิธีใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรจากกระบวนการผลิตอาหารบริการบนเครื่อง ซึ่งฝ่ายครัวการบินของการบินไทยได้ดำเนินการมาตลอด อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการ Food Waste Management อย่างจริงจัง จะเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบิน โดยจะทำให้การบินไทยลดการสูญเสียวัตถุดิบจากการผลิตอาหารถึง 400 กก./วัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท/ปี สำหรับแนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการ Food Waste Management ในปีแรก จะมุ่งเน้นการทวนสอบเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการผลิตอาหารและการบริการทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การผลิตของฝ่ายครัวการบิน การวางแผนเมนูอาหาร การผลิตและการนำอาหารขึ้นเครื่อง ตลอดจนการบริหารจัดการขยะบนเที่ยวบิน การทดลองนำแนวทางใหม่ๆ เช่น การบริหารจัดการอาหารให้บริการให้หมดบนเครื่อง การพัฒนาระบบ Pre-Selected Menu เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกเมนูก่อน คาดว่าจะสามารถลดการสูญเสียอาหารที่ผู้โดยสารไม่ต้องการได้ถึง 20% โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวจะเริ่มใช้ในเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางยุโรปในปี 2563 และภายในปี 2564 จะมีการดำเนินการในทุกเที่ยวบิน
นอกจากนี้ ยังจะนำนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียอาหาร อาทิ การศึกษาวัตถุดิบทั้งหมดของสายการบินเพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพในการลดการสูญเสียอาหารระหว่างกระบวนการผลิต โดยการใช้เทคโนโลยีที่สามารถวัดค่าความสุกของผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ การบินไทยตั้งเป้าหมายว่าสำหรับปีแรกของการดำเนินการจะสามารถลดการสูญเสียอาหารรวมได้ราว 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,078 ตันคาร์บอน/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่จำนวน 230,000 ต้น การลดการสูญเสียอาหารยังจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเด็นการลดการสูญเสียอาหารสำหรับประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้ในที่สุด
นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ไทยสมายล์ได้ตระหนักถึงการลดการสูญเสียทรัพยากรอาหาร โดยได้ริเริ่มดำเนินนโยบายรักษ์โลกอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2561 ตามแนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco-efficiency) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดโครงการ "Save Food Save the World" ในครั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยสมายล์ได้เก็บสถิติจำนวนผู้โดยสารที่ปฎิเสธการรับอาหาร พบว่ามีจำนวน 1.4% ต่อเที่ยวบิน ดังนั้น ในปี 2563 นี้ จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการอาหารและลดการสูญเสียอาหารบนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนที่จะให้ผู้โดยสารสามารถเลือกแสดงความประสงค์ในการปฏิเสธอาหารบนเที่ยวบินล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการปริมาณอาหารบนเที่ยวบินได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะลดความสูญเสียอาหาร ได้ถึง 16.45 ตันต่อปี แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 5.7 ตันต่อปี และเส้นทางระหว่างประเทศ 10.75 ตัน ต่อปี จากปริมาณ Food Waste ที่คาดการณ์ 100,000 มื้อต่อปี นอกจากนี้ แคมเปญบริจาคอาหารจะช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องการสูญเสียอาหาร และผู้โดยสารมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
จากการสำรวจล่าสุด ลูกค้ากลุ่มหลักให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้การขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมาทั้งในเรื่องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ 100% และการคัดแยกขยะจากเที่ยวบินไทยสมายล์ จึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค ซึ่งสามารถลดการสูญเสียอาหารเพื่อนำไปสู่การแบ่งปันแก่ชุมชนและสังคมต่อไป
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศภายใต้แนวทาง "ประเทศไทย 4.0" ที่ปรับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยสร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 (SDGs 12) โดยมีตัวชี้วัดเรื่องของการลดของเสียจากอาหารที่ถูกทิ้งของโลกต่อหัวประชากรลงครึ่งหนึ่ง
ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายใน พ.ศ. 2573 ในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของ สวทช. ที่จะให้คำปรึกษากับการบินไทยและไทยสมายล์ ในการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานด้วยความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารเพื่อลดการสูญเสียทางด้านทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการให้คำแนะนำในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายเพื่อประเมินประสิทธิผลของโครงการ อีกทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจจากการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิตอาหารของการบินไทย